080 175 2000 info@53ac.com

Thailand 4.0 กับการแจ้งสิทธิเพื่อรับประโยชน์ทางภาษี

กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งที่สนองนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลในการสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งหากย้อนไปกว่า 20 ปีที่ผ่านมากรมสรรพากรเป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานแรกของกระทรวงการคลังที่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเสียภาษีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษีเช่น ให้ทางเลือกผู้เสียภาษีให้สามารถยื่นแบบฯ ต่าง ๆ online ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่ www.rd.go.th แทนการยื่นแบบฯด้วยกระดาษ และในปัจจุบัน กรมสรรพากรก็ได้เพิ่มทางเลือกให้ผู้เสียภาษียื่นแบบฯ และชำระภาษีผ่านระบบ RD Smart Tax Application ได้อีกด้วยนอกจากการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการยื่นแบบฯ แล้ว ในด้านการชำระภาษี กรมสรรพากรได้มีการทำความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ในการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประโยชน์ในการชำระเงินภาษีอากร โดยผู้เสียภาษีสามารถชำระภาษีผ่านบัตรเครดิต โอนเงินที่ตู้ ATM หรือชำระเงิน online ซึ่งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าวสร้างความสะดวกแก่ผู้เสียภาษี ประหยัดเวลาในการเดินทาง ผู้เสียภาษีสามารถชำระภาษีได้ตลอด 24 ชั่วโมง และทำให้กรมสรรพากรได้ข้อมูลและเงินภาษีอากรของผู้เสียภาษีได้อย่างรวดเร็ว

 

นอกจากการยื่นแบบฯ และชำระภาษีแล้ว ปัจจุบันกรมสรรพากรได้ออกกฎหมายหลายฉบับให้ผู้เสียภาษีแจ้งการใช้สิทธิต่าง ๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (online) โดยผู้จะใช้สิทธิต้องเข้าไปดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งต้องคลิกส่งข้อมูลนั้นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่ www.rd.go.th ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวไม่ได้ เช่น

 

  1. กรณีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าสำหรับการลงทุนในทรัพย์สินตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับ 642) พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 304)ฯ ออกโดยอาศัยอำนาจของพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่จะใช้สิทธิทางภาษีแจ้งแผนการจ่ายเงินตามแบบแจ้งโครงการลงทุนและแผนการจ่ายเงินตามที่แนบท้ายประกาศอธิบดีฉบับดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ถึงแม้ว่าระยะเวลาการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกฎหมายดังกล่าวได้สิ้นสุดไปแล้วก็ตาม แต่ผู้เสียภาษีหลายรายได้ทำหนังสือถึงกรมสรรพากรเพื่อขอขยายเวลาการแจ้งสิทธิดังกล่าวโดยอ้างเหตุผลว่า ไม่ทราบเงื่อนไขการแจ้งสิทธินั้นหรือทราบแต่แจ้งสิทธิไม่ทันตามเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดของผู้เสียภาษีเอง ซึ่งกรมสรรพากรไม่อาจขยายการใช้สิทธิให้ผู้ประกอบการตามที่ร้องขอได้

 

  1. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ว่าจ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปเข้าทำงาน และประสงค์จะใช้สิทธิหักรายจ่ายค่าจ้างผู้สูงอายุ 2 เท่าตามที่กฎหมายกำหนดในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่639) พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 290)ฯ ออกโดยอาศัยอำนาจของพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ประกอบการนั้นต้องแจ้งข้อมูลของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานผู้สูงอายุในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี เช่น บริษัทใดมีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ให้บันทึกแจ้งข้อมูลลูกจ้างผู้สูงอายุภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 เป็นต้น สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกฎหมายนี้เป็นสิทธิระยะยาว ซึ่งผู้ประกอบการที่ประสงค์จะใช้สิทธิต้องแจ้งข้อมูลของผู้สูงอายุผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดทุกปีหากไม่แจ้งภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้เสียภาษีหมดสิทธิใช้ประโยชน์ทางภาษีตามกฎหมายดังกล่าวได้

 

กฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างที่กรมสรรพากรได้มีการออกกฎหมายโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแจ้งข้อมูลต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (online) แทนการใช้กระดาษ ซึ่งในอนาคตกรมสรรพากรน่าจะมีการออกกฎหมายที่กำหนดเงื่อนไขในลักษณะทำนองเดียวกันนี้อีกหลายฉบับดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆเพื่อประโยชน์ของกิจการตนเอง

 

 1,965 total views,  3 views today