080 175 2000 info@53ac.com

Foreign Account Tax Compliance ACT: FATCA

ที่มาของ FATCA

Feature กรมสรรพากร The Revenue Department 17 Foreign Account Tax Compliance Act หรือ FATCA เป็นกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลของสหรัฐฯ ที่ทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ แนวคิดและหลักการในการจัดเก็บภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาสำหรับบุคคลสหรัฐฯ เป็นไปตามหลักแหล่งเงินได้ทั่วโลก (Worldwide Income Basis)

 

ข้อกำหนดของ FATCA

FATCA กำหนดให้สถาบันทางการเงินในต่างประเทศมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลทางบัญชีของลูกค้าที่เป็นบุคคลสหรัฐฯ ต่อสรรพากรสหรัฐฯ (Internal Revenue Service: IRS) โดยสรุปสาระสำคัญของกฎหมาย FATCAได้แก่

  1. กำหนดให้สถาบันทางการเงินในต่างประเทศ (Foreign Financial Institutions: FFIs) มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลทางบัญชีของบุคคลสหรัฐฯ (U.S. persons) ต่อ IRS

2.กำหนดบทลงโทษสำหรับสถาบันการเงินที่ไม่เข้าร่วมในการทำความตกลง FATCA หรือ Nonparticipating Foreign Financial Institutions ซึ่งหากสถาบันการเงินใดไม่ให้ความร่วมมือในการรายงานข้อมูลทางการเงินการบัญชีของบุคคลสหรัฐฯต่อ IRS เมื่อมีการทำธุรกรรมทางการเงินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งทางตรงและทางอ้อมจะถูกหัก ณ ที่จ่าย (Withholdable Payment) ร้อยละ 30 ของเงินได้ซึ่งมีแหล่งเงินได้ในประเทศสหรัฐอเมริกา (US Source Income) เช่น เงินได้ประเภทดอกเบี้ย เงินปันผล เงินหรือสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สินโดยคำนวณเป็นรายปีหรือตามระยะเวลาที่กำหนดและให้รวมถึงเงินได้ที่เกิดจากการขายทรัพย์สิน (Gross proceeds from the sale of property) ที่อาจก่อให้เกิดดอกผล หรือเงินปันผลใด ๆในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น การขายหุ้นหรือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้นรวมทั้งประเทศนั้นจะไม่สามารถอ้างสิทธิประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ทำกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้อีกทั้งสถาบันการเงินอื่นที่เข้าร่วม FATCA อาจปฏิเสธการทำธุรกรรมด้วย

 

ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ FATCA ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงทำความตกลงระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับรัฐบาลประเทศอื่น ๆ เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางบัญชีของผู้เสียภาษีตามความตกลงนั้นเกิดขึ้นได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายภายในของประเทศคู่สัญญาและเพื่อให้ประเทศคู่สัญญาทั้งสองประเทศให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ทางด้านภาษี โดยความตกลงระหว่างรัฐบาลนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

  1. ความตกลงระหว่างรัฐบาลประเทศ Model 1 คือ ความตกลงรูปแบบที่ 1 เป็นรูปแบบความตกลงที่ประเทศคู่สัญญาจะรายงานข้อมูลทางบัญชีของบุคคลสหรัฐฯ ที่ได้รับจากสถาบันการเงินในประเทศให้ IRS ผ่านหน่วยงานกลางที่ได้รับการแต่งตั้งในประเทศนั้นโดยเป็นได้ทั้งรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างตอบแทน

และไม่ต่างตอบแทน ได้แก่

(1) Model 1 A (Reciprocal) คือ รูปแบบที่รัฐบาลของประเทศภาคีคู่สัญญาทั้งสองประเทศตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลทางบัญชีที่ต้องรายงานให้แก่กันและกันผ่านหน่วยงานกลางที่ได้รับการแต่งตั้ง (Competent Authority) ของทั้งสองประเทศซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นกรมสรรพากร โดยสถาบันการเงินในประเทศที่เลือกทำความตกลงรูปแบบนี้ต้องรายงานข้อมูลทางบัญชีของชาวสหรัฐฯ ให้แก่หน่วยงานกลางรวมทั้งลงทะเบียนเพื่อขอรับเลขประจำตัว (Global Intermediary Identification Number: GIIN) กับกระทรวงการคลังของประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

(2) Model 1 B (Non-reciprocal) คือ รูปแบบที่รัฐบาลของประเทศภาคีคู่สัญญาจัดส่งข้อมูลบัญชีที่ต้องรายงานของบุคคลสหรัฐฯ ให้ประเทศสหรัฐอเมริกาฝ่ายเดียว โดยที่ IRS ไม่ต้องส่งข้อมูลทางบัญชีที่ต้องรายงานให้ประเทศภาคีคู่สัญญา ทั้งนี้ รายละเอียดในทางปฏิบัติไม่แตกต่างจากรูปแบบ 1A กล่าวคือสถาบันการเงินจะจัดส่งข้อมูลทางบัญชีของบุคคลสหรัฐ ฯให้หน่วยงานกลางที่ได้รับการแต่งตั้งในประเทศนั้น ๆและหน่วยงานกลางดังกล่าวจะส่งข้อมูลให้ IRS ต่อไป

 

  1. ความตกลงระหว่างรัฐบาลประเภท Model 2 คือ ความตกลงระหว่างรัฐบาลที่รัฐบาลคู่สัญญาตกลงที่จะออกกฎหมายเพื่ออนุญาตและชี้นำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีที่ต้องรายงานของบุคคลสหรัฐฯกับรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ โดยที่สถาบันการเงินภายใต้รัฐบาลคู่สัญญาจะต้องเป็นผู้รายงานต่อรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรงผ่านระบบอัตโนมัติ

 

ที่นำเสนอข้างต้นเป็นข้อมูลเรื่องราวที่มาความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติการตามการภาษีอากรระหว่างประเทศฯ หรือความตกลง FATCA และประเภทของความตกลงพอหอมปากหอมคอ

 

 

 1,027 total views,  1 views today