EEC ความหวังใหม่ ทางเศรษฐกิจ
จากที่เคยนำเสนอเรื่องมาตรการภาษีสนับสนุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC กันไปแล้วว่า เป็นมาตรการที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนและเชิญชวนให้นักลงทุน รวมทั้งผู้มีความสามารถสูงเข้ามาพัฒนาโครงการมากยิ่งขึ้น เพื่อการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างครอบคลุมรอบด้านโดยมีพื้นที่เป้าหมาย คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ในที่นี้มาดูกันต่อถึงวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของแผนพัฒนาโครงการ EEC รวมถึงสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตกันต่อ โดยวัตถุประสงค์ คือ การยกระดับการลงทุนในทุกด้านไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาทใน 5 ปีแรก เพื่อให้เกิดฐานเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ และเกิดการพัฒนาคน ความรู้และเทคโนโลยี ให้ก้าวทันโลกอนาคต เพื่อทำให้รายได้ประชาชาติขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ส่งเสริมการลงทุน ยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว
วัตถุประสงค์/เป้าหมายการพัฒนา EEC
- ยกระดับพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชีย
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการพัฒนาเมืองและสภาพแวดล้อมเมือง
- อำนวยความสะดวกและสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน
- สนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและท่องเที่ยว
10 อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New – Growth Engine) ของประเทศ และสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้นโดยอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้จะเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) อันได้แก่
- อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
- อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
- การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง
- การแปรรูปอาหาร
- การท่องเที่ยว
สร้าง 5 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย
- อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ทั้งสำหรับภาคอุตสาหกรรมและการใช้งานในชีวิตประจำวัน
- อุตสาหกรรมการบินครบวงจร ศูนย์ซ่อมอากาศยานชิ้นส่วนอะไหล่ รวมทั้งศูนย์ฝึกการบินบริเวณสนามบินอู่ตะเภา
- อุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพครบวงจร
- อุตสาหกรรมไบโออิโคโนมี โดยเฉพาะพลังงานและเคมีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิตอล
แนวทางและแผนการพัฒนา EEC
หลักการดำเนินงานพัฒนาในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามประกาศรัฐบาล
บทบาทการพัฒนา
- ภาครัฐ
- ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม/ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านพลังงาน/ด้านสาธารณูปโภค-
สาธารณูปการ
- ส่งเสริมการลงทุนและอำนวยความสะดวก
- ภาคเอกชน
- พัฒนาอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve
- ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง
- ภาคประชาชน
- มีส่วนร่วม
- มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
การส่งเสริมการลงทุนพร้อมสิทธิประโยชน์การลงทุนใน EEC
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี
- ยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับเครื่องจักร วัตถุดิบ ที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก และของที่นำเข้ามาเพื่อการวิจัยและพัฒนา
- เงินสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรมหรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
- อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
- สิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุถึง 50 ปี และสามารถพิจารณาต่ออายุอีก 49 ปี
- อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่ำที่สุดในอาเซียนสำหรับผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิจัยที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
- ระบบ One-stop Service อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน ให้บริการข้อมูลข่าวสาร การขออนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการ การค้า การส่งออกนำเข้า ในจุดเดียว
- วีซ่าทำงาน 5 ปี เพื่อดึงดูดนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก
EEC ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นพื้นที่แรกที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นระบบ มีกฎหมาย องค์กรดำเนินการ และมีภารกิจชัดเจน เป็นตัวอย่างของการพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต ดำเนินการเป็นไปในแบบบูรณาการ ภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของรัฐบาล เอกชน และประชาชนทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นโดยคำนึงถึงการประสานผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนในพื้นที่เป็นเงื่อนไขการพัฒนาที่สำคัญ โดยให้ความสำคัญกับการสะสมและนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้และสร้างความสะดวกให้กับคนไทยทุกคนทุกระดับโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
1,750 total views, 2 views today