ชื่อของสัญญามีความสำคัญต่อการเสียภาษีหรือไม่
ปัญหาสำาคัญที่ผู้ประกอบการมักตั้งคำถามเกี่ยวกับการเสียภาษีโดยเฉพาะภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายสินค้าที่มีบริการรวมอยู่ด้วยเช่น ขายลิฟท์พร้อมติดตั้ง ขายแอร์พร้อมติดตั้ง ขายบันไดเลื่อนพร้อมติดตั้ง ฯลฯ ว่าจะถือเป็นการขายสินค้าทั้งธุรกรรม หรือการขายสินค้าส่วนหนึ่งและการให้บริการอีกส่วนหนึ่ง โดยกรณีดังกล่าวมีประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้จ่ายเงินซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลว่าตนมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับธุรกรรมดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
ในทางปฏิบัติ คู่สัญญาอาจมีการลงนามในสัญญาที่ระบุชื่อสัญญาว่าเป็นสัญญาซื้อขายสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ หรือระบุว่าสัญญาขายสินค้าเท่านั้นแต่เมื่อพิจารณารายละเอียดของสัญญาแล้วปรากฏว่า มีส่วนของบริการรวมอยู่ในสัญญาดังกล่าวด้วย โดยคู่สัญญาอาจแยกรายการและราคาค่าสินค้าออกจากรายการและราคาค่าบริการในสัญญาหรือเอกสารแนบของสัญญาหรือไม่ก็ได้นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเอกสารภาษีอากร เช่นใบกำกับภาษี ยังพบว่า ผู้ประกอบการมีการออกใบกำกับภาษี 2 รูปแบบ คือ ออกใบกำกับภาษีโดยแบ่งรายการราคาค่าสินค้าออกจากรายการค่าบริการ ไม่ว่าจะแบ่งคนละรายการในใบกำกับภาษีใบเดียว หรือแบ่งใบกำกับภาษีออกเป็น 2 ใบกำกับภาษี หรือออกใบกำกับภาษีใบเดียวโดยรวมราคาค่าสินค้าและค่าบริการเข้าไว้ด้วยกันผู้จ่ายเงินต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในกรณีดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
เพื่อให้การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย มีความถูกต้องตามกฎหมายผู้เขียนขอสรุปหลักการพิจารณาของกรมสรรพากรในกรณีดังกล่าว ดังนี้
1.พิจารณาสาระสำคัญของสัญญา กรมสรรพากรจะไม่พิจารณาตามชื่อที่คู่สัญญาระบุไว้ในสัญญา แต่จะพิจารณาจากเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญา ซึ่งอาจปรากฏจากข้อความตอนหนึ่งตอนใดในสัญญาหรือปรากฏจากทางปฏิบัติของคู่สัญญาก็ได้ การซื้อขายและการรับจ้างทำของจึงต่างกันที่การซื้อขายมุ่งถึงการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ส่วนการรับจ้างทำของมุ่งถึงการทำงานและผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ซึ่งผลสำเร็จของงานอาจปรากฏออกมาเป็นทรัพย์ สิ่งของหรือไม่ก็ได้ เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2520 โจทก์ทำเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงส่งแก่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สัญญาที่โจทก์ทำกับการไฟฟ้าทั้งสองระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขาย ข้อความในหนังสือสัญญาแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามีเจตนามุ่งจะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เพื่อตอบแทนการใช้ราคา มิใช่มุ่งหวังในผลสำเร็จในการงาน แม้ข้อความในสัญญาจะได้กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะของทรัพย์ที่จะต้องส่งมอบว่าจะต้องเป็นไปตามแบบและรายการแนบท้ายสัญญาก็เห็นได้ว่าเป็นการกำหนดรายละเอียดรับไว้เป็นเงื่อนไขในการรับซื้อ สัญญาดังกล่าวจึงเข้าลักษณะสัญญาซื้อขาย หาใช่สัญญาจ้างทำของไม่ และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2169-2170/2534วินิจฉัยว่าการที่โจทก์ขายคอนกรีตผสมเสร็จให้ลูกค้าโดยผสมตามสูตรและอัตราส่วนของลูกค้านั้นเป็นสัญญาซื้อขายเพราะคู่สัญญามิได้หวังผลสำเร็จในการงานอันเป็นสาระสำคัญที่จะให้เป็นสัญญาจ้างทำของ
2.พิจารณาสัมภาระกับการงานที่รับทำจนสำเร็จว่าสิ่งไหนสำคัญกว่ากัน เป็นอีกกรณีหนึ่งที่มีความสำคัญในการพิจารณาว่าเป็นเรื่องสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจ้างทำของ โดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2530 ได้วินิจฉัยข้อแตกต่างระหว่างการซื้อขายและการรับจ้างทำของนั้นหาได้อยู่ที่เจตนาและกริยาของคู่กรณีที่ประพฤติต่อกันแต่ประการเดียวไม่ แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าสัมภาระกับการงานที่รับทำจนสำเร็จนั้นสิ่งไหนสำคัญกว่ากัน ถ้าการงานที่รับทำจนสำเร็จสำคัญกว่าสัมภาระก็เป็นรับจ้างทำของ แต่ถ้าไม่สำคัญกว่าก็เป็นการซื้อขาย
3.พิจารณาสาระสำคัญของงานเป็นสำคัญ เช่น สาระสำคัญของงานเป็นการประกอบกิจการขายสินค้าเป็นหลัก ถึงแม้ว่าการขายสินค้านั้นจะมีการให้บริการรวมอยู่ด้วย ก็ถือเป็นการขายสินค้า
4.พิจารณาว่าการขายสินค้าที่มีบริการรวมอยู่ด้วยนั้น มีการแบ่งหรือรวมการจ่ายราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการในเอกสารภาษีอากร เช่น ใบกำกับภาษีหรือไม่ หากมีการแยกรายการค่าบริการออกจากรายการค่าสินค้า กรณีถือว่าการจ่ายเงินค่าบริการเข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าจ้างทำของซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงิน มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 สำหรับค่าจ้างทำของนั้น ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 แต่หากไม่มีการแยกรายการค่าสินค้าออกจากรายการค่าบริการ ราคาที่เรียกเก็บถือเป็นการเรียกเก็บค่าสินค้าทั้งจำนวน ผู้จ่ายเงินซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด เช่น
บริษัท ก. ประกอบกิจการผลิตเครื่องจักรและระบบลำเลียงสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมให้บริการติดตั้งแก่ลูกค้าตามขนาดมาตรฐานที่บริษัท ก. ขายอยู่แล้วหรือตามขนาดต่าง ๆ ที่บริษัท ก. จะตกลงกับลูกค้า เช่น เครื่องคัดขนาดกุ้ง เครื่องต้มกุ้งเครื่องล้างภาชนะ ผัก ผลไม้ เป็นต้น ต่อมาบริษัท ก. ได้เสนอขายเครื่องต้มกุ้งให้กับลูกค้ารายหนึ่ง โดยลูกค้าต้องการให้ติดตั้งไว้บนรถบรรทุก 6 ล้อ เพื่อสามารถนำไปใช้งานนอกสถานที่ได้ บริษัท ก. ไม่ได้ประกอบกิจการขายรถบรรทุก 6 ล้อ แต่ต้องเป็นจัดหารถบรรทุก 6 ล้อ พร้อมติดตั้งเครื่องต้มกุ้งบนรถดังกล่าวเพื่อส่งมอบให้แก่ลูกค้าเครื่องต้มกุ้ง ที่ติดตั้งไว้สามารถขนย้ายขึ้นลง
จากรถบรรทุก 6 ล้อได้ โดยบริษัท ก.ต้องดำเนินการสร้างโครงสร้างตู้ปีกนกที่ติดตั้งเพิ่มเติมบนรถบรรทุก 6 ล้อ เพื่อรองรับเครื่องต้มกุ้งพร้อมอุปกรณ์ กรณีดังกล่าวถือเป็นการขายสินค้า เนื่องจากบริษัท ก.มีเจตนามุ่งโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้แก่ลูกค้า หากบริษัท ก. ได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้า จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วยค่ารถบรรทุก 6 ล้อ 1 ฉบับ ราคา 1,350,000 บาท ค่าเครื่องต้มกุ้ง 1 ฉบับ ราคา 2,486,000 บาท
และค่าบริการติดตั้งโครงสร้างตู้ปีกนกที่ติดตั้งเพิ่มเติมบนรถบรรทุก 6 ล้อ อีก 1 ฉบับราคา 1,300,000 บาท หรือออกใบกำกับภาษีฉบับเดียวแต่แยกรายการคือค่าสินค้าเป็นสองรายการ และค่าบริการติดตั้งอีกหนึ่งรายการ กรณีดังกล่าวเฉพาะค่าบริการติดตั้งที่แยกออกจากราคาสินค้าเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับจ้างทำของ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.25283 แต่หากบริษัท ก. ออกใบกำกับภาษีรายการเดียว โดยระบุว่าเป็นขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้ง จำนวน 5,136,000 บาทกรณีดังกล่าวถือเป็นการขายสินค้า ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด
การเข้าใจกฎหมายจะทำให้ผู้ประกอบการลดความกังวลในการเสียภาษี และประกอบกิจการได้อย่างไม่มีปัญหากับเจ้าหน้าที่
2,434 total views, 1 views today