กฎหมายการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความน่าเชื่อถือระหว่างคู่สัญญาในการชำระหนี้ต่อกันตามสัญญา เช่น การทำสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ในโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งเจ้าของโครงการต้องสร้างบ้านให้ถูกต้องเรียบร้อยตามกำหนดเวลาในสัญญาจะซื้อจะขาย ส่วนผู้ซื้อมีหน้าที่ชำระเงินตามงวดที่กำหนดไว้ให้แก่ผู้ขาย ซึ่งปัญหาอาจเกิดขึ้นกรณีที่ผู้ซื้อวางเงินจองและชำระเงินดาวน์แล้ว แต่ผู้ขายไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดหรือไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้ซื้อต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ขายและอาจไม่สามารถบังคับเรียกร้องเงินที่จ่ายไปแล้วจากผู้ขายได้
กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคนกลาง (Escrow Agent) ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้คู่สัญญาปฏิบัติการชำระหนี้ตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ตลอดจนรักษาเงิน ทรัพย์สินหรือเอกสารแห่งหนี้ และจัดให้มีการชำระหนี้และโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ซึ่งคู่สัญญาที่ประสงค์จะให้มีคนกลางทำหน้าที่เช่นนี้ ต้องทำสัญญาดูแลผลประโยชน์กับผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา และระบุกำหนดระยะเวลา และเงื่อนไขในการส่งมอบทรัพย์สินหรือเอกสารแห่งหนี้ไว้ด้วย ซึ่งกฎหมายยังได้กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีส่วนได้ส่วนเสียกับคู่สัญญาทั้งทางตรงหรือโดยอ้อมด้วย
ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวให้สามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคและข้อบกพร่องที่เป็นข้อจำกัดในการทำธุรกรรมภายใต้พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.แก้ไขขอบเขตการใช้พระราชบัญญัติฯ ให้ครอบคลุมการทำธุรกรรมที่หลากหลายมากขึ้น โดยดำเนินการ
(1) แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “คู่สัญญา” เพื่อให้คู่สัญญาต่างตอบแทนทุกประเภทสามารถทำสัญญาดูแลผลประโยชน์ตามพระราชบัญญัติฯ นี้ได้
(2) ขยายขอบเขตหน้าที่ของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาจากปัจจุบัน ที่ต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาทั้งเงิน ทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ตามที่คู่สัญญาได้ส่งมอบให้เป็นให้สามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาเฉพาะเงิน ทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งตามความต้องการของคู่สัญญาได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักสากลทั่วไปยิ่งขึ้น
2.เพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมซื้อขายห้องชุด เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดบันทึกเป็นหลักฐานว่า อสังหาริมทรัพย์ประเภทห้องชุดนั้น อยู่ภายใต้บังคับแห่งสัญญาดูแลผลประโยชน์ และห้ามจดทะเบียนโอนสิทธิในทรัพย์สินนั้น จนกว่าจะได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาเช่นเดียวกับการซื้อขายบ้านและที่ดิน
3.แก้ไขบทบัญญัติการออกหลักฐานการฝากเงินหรือโอนเงิน ตลอดจนการปิดบัญชีดูแลผลประโยชน์เพื่อให้สอดรับกับพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน
4.เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ ให้สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
5.เพิ่มบทกำหนดโทษทางปกครองของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา กรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่
คณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ประกาศกำหนด เช่น กรณีคิดค่าตอบแทน
เกินกว่าที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และกรณีไม่ออกหลักฐานรับรองการฝากเงินให้กับคู่สัญญา
ฝ่ายที่ต้องชำระเงิน เป็นต้น
ร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยผลักดันและเป็นทางเลือกในการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงินให้กับประชาชน โดยเฉพาะธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการซื้อขายห้องชุด ซึ่งจะเป็นการขยายขอบเขตการทำธุรกรรมที่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต สร้างความเชื่อมั่นให้แก่คู่สัญญาและความมั่นคงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจะทำให้ระบบการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือการทำสัญญาต่างตอบแทนเกิดความเสี่ยงหรือหยุดชะงักส่งผลกระทบต่อคู่สัญญา และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้นั่นเอง
2,279 total views, 1 views today