080 175 2000 info@53ac.com

การยื่นคำขอของมูลนิธิหรือสมาคม เพื่อการลดหย่อนภาษีของผู้บริจาค

มูลนิธิหรือสมาคมในประเทศไทยมีจำนวนมาก แต่หลายมูลนิธิหรือสมาคมมักเกิดคำถามจากผู้บริจาคว่าใบเสร็จรับเงินที่มูลนิธิหรือสมาคมออกให้แก่ตนนั้นจะสามารถนำไปใช้สิทธิหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีตามประมวลรัษฎากรได้หรือไม่ ซึ่งผู้บริจาคต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้บริจาคจะใช้สิทธิหักลดหย่อนในการคำนวณได้ก็ต่อเมื่อมูลนิธิหรือสมาคมดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของกรมสรรพากรเพื่อประกาศกำหนดให้มูลนิธิหรือสมาคมเป็นองค์การ สถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร โดยมูลนิธิหรือสมาคมจะต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 531) เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประกาศกำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษาตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3(4)(ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

 

อย่างไรก็ดี ก่อนจะเข้าถึงสาระในการพิจารณาให้มูลนิธิหรือสมาคมเป็นองค์การ สถานสาธารณกุศล ตาม

มาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร เราควรต้องเข้าใจ ความหมายของคำว่า “มูลนิธิ” หรือ “สมาคม” ก่อนว่ามีความหมายอย่างไร

 

คำว่า “มูลนิธิ”

หมายถึง ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาประโยชน์มาแบ่งปันกันและได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใดนอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง โดยมูลนิธิที่ได้จดทะเบียนแล้วจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 122 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

คำว่า “สมาคม”

หมายถึง การก่อตั้งสมาคมเพื่อกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะต่อเนื่องร่วมกันและมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน ต้องมีข้อบังคับและจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

โดยสมาคมที่ได้จดทะเบียนแล้วจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ผู้บริจาคเงินให้แก่มูลนิธิหรือสมาคมจะสามารถนำหลักฐานการบริจาคเงิน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ไปหักลดหย่อนภาษีได้ก็ต่อเมื่อมูลนิธิหรือสมาคมนั้นได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การ สถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมูลนิธิหรือสมาคมต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555 โดยในการขอให้เป็นองค์การ

 

สถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ได้นั้น ผู้ยื่นคำขอจะต้องเป็นมูลนิธิหรือสมาคม ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อกรมสรรพากรเพื่อพิจารณาเสนอกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้มูลนิธิหรือสมาคมนั้นเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ทั้งนี้ มูลนิธิหรือสมาคมจะต้องมีการดำเนินงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 531)ฯ ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555 พร้อมแนบเอกสารหลักฐานให้กรมสรรพากรเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้

 

  1. หนังสือจัดตั้งและหนังสือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
  2. ข้อบังคับของมูลนิธิหรือสมาคม
  3. รายงานผลการดำเนินงานของมูลนิธิหรือสมาคมในรอบปีที่ผ่านมา
  4. งบดุล งบรายได้รายจ่าย และรายละเอียดประกอบ งบรายจ่ายย้อนหลังหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และเอกสารประกอบรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะพร้อมหลักฐานใบเสร็จรับเงินของรายจ่ายดังกล่าว หนังสือตอบรับหรือหนังสือขอบคุณของผู้รับบริจาค
  5. รายงานผู้สอบบัญชี

 

อนึ่ง กรณีผู้ยื่นคำขอที่มิได้มีฐานะเป็นมูลนิธิหรือสมาคม กรมสรรพากรจะไม่พิจารณาประกาศให้ เว้นแต่

จะมีวัตถุประสงค์และการดำเนินงานเช่นเดียวกับมูลนิธิ หรือสมาคม ซึ่งกรมสรรพากรจะพิจารณาประกาศ

ให้เป็นราย ๆ ไปในหลักเกณฑ์เดียวกันหรือตามที่เห็นสมควร โดยจะต้องยื่นคำขอพร้อมแนบเอกสารหลักฐานให้กรมสรรพากรพิจารณาดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

ปัจจุบันองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร มีจำนวนทั้งสิ้น

956 แห่งเท่านั้น ซึ่งผู้บริจาคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th

 

 5,841 total views,  6 views today