080 175 2000 info@53ac.com

การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน เพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

การประกอบกิจการค้าที่มีการขายสินค้าจำนวนมาก มีความถี่ในการขายแต่ละวันมาก ๆ อาจจะประสบปัญหากับการเก็บรายละเอียดของการขายสินค้า ซึ่งหากมีสินค้าหลาย ๆ Item หลายประเภทที่แตกต่างกันออกไป อาจจะต้องใช้เวลาในการจัดทำรายละเอียดมากจึงได้มีการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการจัดเก็บข้อมูลรวมทั้งสามารถประมวลผลได้โดยการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ไม่ต้องมีภาระในการเขียน หรือพิมพ์ใบกำกับภาษี โดยเฉพาะกิจการค้าปลีกที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการแก่บุคคลจำนวนมาก อีกทั้งยังง่ายต่อการควบคุมและการตรวจสอบด้วย โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบกิจการค้าปลีก หากประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องขออนุมัติจากกรมสรรพากรก่อน

 

สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินส่วนใหญ่ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านค้าทองรูปพรรณ ตัวแทนรับชำระเงิน ร้านค้าย่อยที่ตั้งอยู่ภายในห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ หรือผู้ประกอบการอื่นที่ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากร ซึ่งต้องดำเนินการขออนุมัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. กรอกคำขอ ภ.พ.06 แยกเป็นรายสถานประกอบการพร้อมเอกสารแนบแสดงคุณสมบัติของเครื่องบันทึกการเก็บเงิน รายละเอียดรุ่น ยี่ห้อ หมายเลขประจำเครื่อง (Serial Number) จำนวนเครื่องที่จะใช้ แผนผังแสดงตำแหน่งการวาง ในกรณีที่มีการเชื่อมต่อเครื่องบันทึกการเก็บเงินเข้ากับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นให้แสดงแผนผังระบบการเชื่อมต่อตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อ ตัวอย่างรายงานการขายสินค้าหรือการให้บริการประจำวันที่ออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน
  2. ยื่นคำขอ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ กรณีมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ แต่หากกรณีเป็นผู้ประกอบการภายใต้การกำกับดูแลของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ให้ยื่น ณ กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
  3. กรมสรรพากรจะดำเนินการพิจารณา ตรวจสอบคำขอพร้อมเอกสารแนบ รวมทั้งตรวจคุณสมบัติของเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ตัวอย่างใบกำกับภาษีรายงานต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณา
  4. ภายหลังการตรวจสอบแล้วเสร็จ กรมสรรพากรจะแจ้งผลการพิจารณาคำขอ พร้อมทั้งแจ้งเลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินให้ผู้ประกอบการดำเนินการบันทึกเลขรหัสประจำเครื่องที่กรมสรรพากรกำหนดในใบกำกับภาษี สำเนาใบกำกับภาษี และเอกสารทุกแห่งที่ระบุไว้
  5. ผู้ประกอบการได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องบันทึกการเก็บเงิน และติดแถบสติ๊กเกอร์ไว้ที่เครื่องบันทึกการเก็บเงิน

 

อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 90/3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่ง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 3,363 total views,  2 views today