ผู้ถือหุ้น กรรมการ หรือพนักงาน นำเงินให้บริษัทกู้ยืมต้องเสียภาษีหรือไม่
การประกอบกิจการในแต่ละเดือน บริษัทต่าง ๆ จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า มีวัสดุอุปกรณ์สำนักงาน และอื่น ๆ อีกมากมายจำนวนมากนอกจากนี้ บริษัทยังต้องลุ้นอีกว่าสินค้าที่นำมาขายจะมีผู้ซื้อมากน้อยเท่าใด บางครั้งบริษัท อาจประสบปัญหาเงินที่บริษัทนำมาหรือหามาเพื่อลงทุนในกิจการของตนเองมีจำนวนไม่เพียงพอ บริษัทอาจจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งสถาบันการเงินจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้บริษัทหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบได้ หรือหากอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้บริษัท บริษัทก็ต้องวางแผนการจ่ายคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินเรียกเก็บตามกำหนด ซึ่งหากบริษัทไม่จ่ายเงินคืนตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนด บริษัทอาจถูกฟ้องร้องเป็นคดีความในศาลได้
ทางเลือกที่บริษัทสามารถทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสถาบันการเงิน คือ การกู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้น กรรมการ หรือพนักงานของบริษัทที่มีเงินเก็บเหลือใช้ และประสงค์จะให้บริษัทกู้ยืมเงิน ให้มาทำสัญญากู้ยืมเป็นลายลักษณ์อักษรกับบริษัท โดยบริษัทตกลงจ่ายคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้ผู้ถือหุ้น กรรมการ หรือพนักงานรายนั้น ๆ เป็นรายเดือนในอัตราที่กำหนด การจ่ายคืนเงินกู้และดอกเบี้ยคืนผู้ถือหุ้น กรรมการ หรือพนักงานดังกล่าว จะต้องมีภาระภาษีอย่างไร และบริษัทสามารถนำดอกเบี้ยจ่ายนั้นมาลงรายจ่ายได้หรือไม่ แยกได้ดังนี้
- กรณีบริษัทจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่ผู้ถือหุ้นกรรมการ หรือพนักงาน (ผู้ให้กู้ยืม) บริษัทมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15.0 ตามมาตรา 50 (2) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และบุคคลผู้ให้กู้ยืมดังกล่าวมีสิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่นำดอกเบี้ยที่ได้รับดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อถึงกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 48 (3) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
- กรณีผู้ถือหุ้น กรรมการ หรือพนักงานผู้ให้กู้ยืมเงิน แก่บริษัทได้นำเงินของตนเองมาให้บริษัทกู้ยืม หากบุคคลดังกล่าวมิได้มีการประกอบอาชีพให้กู้ยืมเงินมาก่อนและการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวมิได้มีการหาเงินจากที่อื่นมา การให้กู้ยืมเงินดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากรจึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด (แต่หากบุคคลดังกล่าวให้บุคคลอื่นกู้ยืมโดยประกอบเป็นอาชีพต่อเนื่องกัน กรณีนี้เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากรโดยต้องนำรายรับจากดอกเบี้ยมาเป็นฐานในการคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย)
- กรณีสัญญากู้ยืมเงินที่บริษัททำกับผู้ถือหุ้น กรรมการ หรือพนักงาน ผู้ให้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ โดยวิธีการปิดแสตมป์ทับเอกสารสัญญากู้ยืมเงิน
- กรณีบริษัทจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หากเป็นการกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของบริษัท บริษัทย่อมมีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
ภาระภาษีอากรของผู้ถือหุ้น กรรมการ หรือพนักงาน (ผู้ให้กู้ยืมเงิน) และบริษัท (ผู้กู้ยืมเงิน) มีความแตกต่างกันทั้งสองฝ่ายจึงต้องทำความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆให้ถี่ถ้วนก่อนดำเนินการดังกล่าว
2,134 total views, 3 views today