เรื่องง่าย ๆในการทำธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์
การทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในรูปแบบของการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Commerce) ด้วยช่องทางต่าง ๆ เช่น Facebook Instagram Twitter Lazada Shopee Konvy Weloveshopping Lnwshop เป็นต้น ร้านค้าออนไลน์จำเป็นต้องมีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
1.พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดลักษณะร้านค้าออนไลน์ที่ถูกต้องควรแสดงข้อมูลที่ชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผยในเรื่องราคาสินค้า รายละเอียด ประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนักของสินค้า รายการที่แสดงคู่กับราคาต้องเป็นภาษาไทย (มีภาษีอื่นด้วยได้) ราคาต้องตรงกับราคาขายจริง (ยกเว้นขายถูกกว่า) และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากราคาสินค้าต้องระบุไว้ด้วยหากร้านค้าออนไลน์ไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งท่านสามารถศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ได้ที่ www.dit.go.th กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ หรือสายด่วน 1569
2.พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดบทลงโทษ กรณีการใช้ภาพของผู้อื่นเพื่อขายสินค้าออนไลน์ของตน โดยการใช้รูปภาพ หรือตัดต่อรูปภาพสินค้าเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในสินค้าของตน โดยที่เจ้าของภาพไม่มีส่วนรู้เห็น ถือเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยการหลอกลวงผู้บริโภคซึ่งการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วนนั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนอกจากนี้ อาจมีความผิดในกรณีโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.ประมวลรัษฎากรได้กำหนดไว้สำหรับผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ ดังนี้
– ร้านค้าในรูปของบุคคลธรรมดา ต้องนำเงินได้จากการขายของออนไลน์มาถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ร้อยละ 60 หรือหักค่าใช้จ่ายจริงตามเอกสารหลักฐานที่เกิดขึ้นจริงเพื่อคำนวณภาษีปีละ 2 ครั้ง ตามแบบ ภ.ง.ด.94 เสียภาษีเงินได้ครึ่งปีและแบบ ภ.ง.ด.90 เสียภาษีเงินได้ประจำปี
– ร้านค้าในรูปของนิติบุคคล ต้องนำรายได้จากการขายของออนไลน์มาคำนวณภาษีสามารถหักค่าใช้จ่ายตามเอกสารหลักฐานที่เกิดขึ้นจริง เพื่อนำมาคำนวณภาษีปีละ 2 ครั้งตามแบบ ภ.ง.ด.51 เสียภาษีเงินได้ครึ่งปี และแบบ ภ.ง.ด.50 เสียภาษีเงินได้ประจำปี
– หากร้านค้าไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีรายรับจากการขายสินค้าออนไลน์เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับจากการขายสินค้าเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยร้านค้าจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าและร้านค้าจะเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน
2,463 total views, 1 views today