เพิ่มการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) เป็นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน บูรณาการระบบสวัสดิการสังคม รวมถึงส่งเสริมการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในทุกภาคส่วน โดยมีโครงการขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับการชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ประชาชน เปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้เงินสด ไปสู่การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
กรมสรรพากรได้สนับสนุนโครงการดังกล่าว จึงได้มีการออกมาตรการทางด้านภาษีเงินได้ สามารถคำนวณเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ 2 เท่า สำหรับรายจ่ายที่เกี่ยวกับการชำระเงินผ่านอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่อง EDC (Electronic Data Capture) ดังนี้
มาตรการทางด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล
- รายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องจ่ายตั้งแต่วันที่ 1พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่เรียกเก็บค่าเช่าอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากผู้รับชำระเงินผ่านอุปกรณ์และต้องเป็นการใช้สิทธิในรอบระยะเวลา
บัญชีที่จ่ายไปทั้งจำนวน สามารถใช้สิทธิได้จำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่าย
- รายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้า (Merchant Discount Rate : MDR) จากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 สามารถใช้สิทธิได้จำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่าย
นิติบุคคลที่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์รายจ่ายเพื่อการลงทุนในอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ นิติบุคคล SMEs หมายถึง นิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
แต่หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว ไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิไปแล้ว เว้นแต่กรณีที่ทรัพย์สินถูกทำลายสูญหาย หรือสิ้นสภาพ
คุณสมบัติของเครื่อง EDC ต้องมีลักษณะ
(1) เป็นอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการลงทุนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือผู้ที่คณะกรรมการดังกล่าวมอบหมาย และได้ใช้จริงในโครงการดังกล่าว
(2) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
(3) เป็นอุปกรณ์ที่หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามวัตถุประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561
(4) ต้องมีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันที่อยู่ใ นสภาพพร้อมที่จะใช้การได้ตามวัตถุประสงค์ เว้นแต่ ถูกทำลาย สูญหาย หรือสิ้นสภาพ
(5) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(6) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
มาตรการทางด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
รายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้า (Merchant Discount Rate : MDR) จากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
สำหรับบุคคลธรรมดาที่ประกอบกิจการร้านค้า สามารถขอรับสิทธิประโยชน์รายจ่ายค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้า MDR จะต้องมีลักษณะ
- ต้องเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5-8
- ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย
- ต้องเป็นค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมที่ก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมินนั้น ๆ
- ต้องเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรเท่านั้น
มาตรการทางภาษีเงินได้ดังกล่าวข้างต้น เป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของ
ภาคธุรกิจในประเทศระยะยาวแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนโครงการขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อชำระเงิน
แทนเงินสดในอนาคตอีกด้วย
2,027 total views, 1 views today