เงินได้ของชาวต่างชาติเสียภาษีอย่างไร?
ประเทศไทยของเราทุกวันนี้มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาอยู่กันมากขึ้น ซึ่งก็จะมีทั้งที่เข้ามาแบบชั่วคราวหรือเข้ามาท่องเที่ยวแบบเข้ามาแล้วออกไป กับแบบที่เข้ามาอยู่ประจำลงหลักปักฐานเป็นที่อาศัยและเข้ามาทำงานหรือมีหน้าที่การงานในประเทศไทยเลยนั้นก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งทีนี้ก็มีประเด็นที่น่าสนใจว่า ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยกับในทางภาษีแล้ว พวกเขาต้องเสียภาษีหรือไม่เสียอย่างไร แล้ววิธีคิดภาษีต่างกับคนไทยหรือไม่
หลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ก่อนอื่นมาดูหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยเรากันก่อนว่า ประเทศไทยเราจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยใช้หลักแหล่งเงินได้ตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือแหล่งเงินได้ภายในประเทศ และแหล่งเงินได้ภายนอกประเทศ โดยสรุปได้ดังนี้
- แหล่งเงินได้ภายในประเทศ ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้ หากเป็นกรณี
(1) มีเงินได้จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย
(2) มีเงินได้จากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย
(3) มีเงินได้จากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือเป็นชาวต่างชาติหากมีเงินได้จากแหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทยกฎหมายกำหนดให้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยทั้งนั้น ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ และจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม
- แหล่งเงินได้ภายนอกประเทศ ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้ ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครบทุกข้อ คือ
(1) มีเงินได้จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศหรือจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
(2) ได้นำเงินได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้น
(3) ผู้มีเงินได้นั้นอยู่อาศัยในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีนั้น (แม้จะอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือ เข้า ๆ ออก ๆ แต่เมื่อรวมกันแล้วถึง 180 วันในปีภาษี ก็ถือว่าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย)
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือเป็นชาวต่างชาติหากมีเงินได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและได้นำเงินได้ที่เกิดขึ้นนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้น และได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน ก็ต้องนำเงินได้นั้นมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยเหมือนปกติเช่นกัน
ชาวต่างชาติเสียภาษีเงินได้อย่างไร
กรณีจ้างแรงงานชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน ผู้ที่จ่ายเงินได้ให้กับบุคคลธรรมดาชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเมื่อจ่ายเงินได้ให้ชาวต่างชาติด้วยทุกครั้ง แม้บางครั้งชาวต่างชาตินั้นจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่ครบ 180 วันในปีภาษีก็ตาม เพราะถือหลักว่า เป็นกรณีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศที่มีข้อตกลงการเว้นการเก็บภาษีซ้อนเท่านั้น
โดยในส่วนของนายจ้าง หากเป็นบริษัทที่เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรโดยการคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ได้เงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใด ให้หักภาษีไว้จำนวนเท่านั้น
การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้มีหลักเกณฑ์อย่างไร
หลักการสำคัญของการยื่นแบบฯ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของชาวต่างชาติที่ไม่ว่าจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม หากมีเงินได้จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย บุคคลดังกล่าวก็มีหน้าที่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร โดยพอสรุปได้ดังนี้
- กรณีบุคคลธรรมดาชาวต่างชาติ มีเงินได้จากการจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) กรณีไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 120,000 บาท
(ข) กรณีมีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 220,000 บาท
บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยในการคำนวณภาษี ให้นำเงินได้พึงประเมิน หักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท แล้วหักด้วยค่าลดหย่อน คงเหลือเท่าใด เป็นเงินได้สุทธินำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- กรณีบุคคลธรรมดาชาวต่างชาติ มีเงินได้จากการจ้างแรงงานและเงินได้ประเภทอื่น ๆ ด้วย กฎหมายถือเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) กรณีไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท
(ข) กรณีมีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 120,000 บาท
บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยในการคำนวณภาษี ให้นำเงินได้พึงประเมินหักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50
แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท แล้วหักด้วยค่าลดหย่อน คงเหลือเท่าใดเป็นเงินได้สุทธินำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และสำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป โดยไม่รวมเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินคูณด้วยร้อยละ 0.5 ได้ภาษีจำนวนเท่าใดให้นำไปเปรียบเทียบกับภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีแรก โดยให้เสียภาษีเงินได้จากจำนวนเงินภาษีที่มากกว่า
ทั้งนี้ สำหรับเงินได้สุทธิในปีภาษีเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท ยังคงได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551 อยู่ต่อไป
จากหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาข้างต้น อาจสรุปได้อีกว่า ไม่ว่าผู้มีเงินได้จะเป็นคนไทยหรือเป็นชาวต่างชาติ เมื่อมีเงินได้เกิดขึ้นก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่จะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ หรือไม่ก็ขึ้นอยู่ว่าคุณมีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดข้างต้นหรือไม่ ในที่นี้หวังว่าผู้มีเงินได้ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ หรือคนไทย ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย คงจะได้รับข้อมูลเพื่อจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อไป
10,193 total views, 1 views today