080 175 2000 info@53ac.com

สิทธิหักรายจ่าย ค่าจ้างได้เพิ่มขึ้น

การที่ธุรกิจส่วนใหญ่ประสบปัญหาจากนโยบายการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีการปรับราคาสูงขึ้น แต่อัตราการจ่ายค่าจ้างไม่สมดุลกับค่าใช้จ่ายประจำวัน ส่งผลกระทบต่อการครองชีพ ทำให้ลูกจ้างและผู้ใช้แรงงานมีการขอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้เพียงพอกับการครองชีพในปัจจุบัน รัฐบาลได้เห็นถึงผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว จึงได้ออกมาตรการทางด้านภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน โดยกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้

นิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการรวมกันไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้จำนวน 1.15 เท่าของค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง สำหรับค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561

 

คำว่า “ค่าจ้างรายวัน” หมายถึง เงินค่าจ้างที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายวัน โดยค่าจ้างรายวันนั้นไม่รวมถึง ค่าล่วงเวลา เบี้ยเลี้ยง ประโยชน์อื่นใดที่คำนวณได้เป็นเงินภาษีอากรที่ผู้จ่ายออกแทนให้ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน

 

หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ประกอบด้วย

(1) ต้องมีการจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้างในอัตราที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิม ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้กำหนดและประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป หรือที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างก่อนวันที่ 1 เมษายน 2561

(2) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานในกรณีอื่นตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

 

มาตรการภาษีนี้ จะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานเป็นส่วนสำคัญในการประกอบกิจการให้มีศักยภาพในการแข่งขันในประเทศได้อย่างยั่งยืน และจูงใจให้นายจ้างได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันเป็นการสนับสนุนการกระจายความมั่งคั่ง และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

 2,166 total views,  1 views today