080 175 2000 info@53ac.com

 สิทธิทางภาษีในการเที่ยวเมืองไทย

ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมายทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบของการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ชุมชน และการท่องเที่ยวตามความสนใจพิเศษแตกต่างกันไปตามพฤติกรรมของคนและถือได้ว่าการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการเสริมสร้างและสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นหลายโครงการ ในการนี้ ได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง หรือจังหวัดรอง เพื่อกระจายรายได้และเพิ่มรายได้ให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยได้กำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ท้องถิ่นหรือจังหวัดท่องเที่ยวรองไว้ดังนี้

 

ภาษีเงินได้นิติบุคคล : บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งหรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้างหรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาในพื้นที่ท้องถิ่นหรือจังหวัดท่องเที่ยวรอง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองร่วมกับจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยวรองตามเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวรองสำหรับค่าที่พักโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมหรือค่าที่พักในโฮมสเตย์ที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโฮมสเตย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน โฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยวมาหักลดหย่อนได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะค่าบริการหรือค่าที่พักที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่31 ธันวาคม 2561

 

สำหรับจังหวัดท่องเที่ยวรองในประเทศไทยพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมเยือนในพื้นที่โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ 55 จังหวัด ตามแต่ละภาคของประเทศ ดังนี้

  1. ภาคเหนือ : (จังหวัดรอง 16 จังหวัด) ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตรพิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี
  2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : (จังหวัดรอง18 จังหวัด) ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี
  3. ภาคกลาง : (จังหวัดรอง 7 จังหวัด) ได้แก่ ชัยนาท ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง
  4. ภาคตะวันออก : (จังหวัดรอง 5 จังหวัด)ได้แก่ จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว
  5. ภาคใต้ : (จังหวัดรอง 9 จังหวัด) ได้แก่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา ระนอง สตูล

 

ในเรื่องนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์กรมสรรพากรที่ www.rd.go.th ซึ่งจะมีรายละเอียดกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ให้บริการเมื่อมีการออกประกาศเป็นกฎหมายชัดเจนแล้วได้ต่อไป

 2,077 total views,  1 views today