080 175 2000 info@53ac.com

สังคมไร้เงินสด… ร้านธงฟ้ากับภาษี

ปัจจุบันเราคงได้ยินคำว่า “สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)” กันอย่างหนาหู ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ ได้แก่สวีเดน เบลเยี่ยม สิงคโปร์ ฝรั่งเศส ฯลฯ ส่วนประเทศเราส่วนใหญ่ก็เริ่มไม่ค่อยพกเงินสด แต่จะหันมาพกบัตรเครดิตและบัตรเดบิตแทน หรือแม้กระทั่งร้านค้าบางร้านตามท้องตลาดก็มีการรับชำระเงินผ่านบัตรมากขึ้น จึงเห็นได้ว่าเราทุกคนกำลังจะเข้าสู่โลกของสังคมไร้เงินสดกันในไม่ช้านี้แล้ว ส่วนใครที่กำลังสนใจว่าสังคมไร้เงินสดคืออะไร และดีอย่างไรเรามาทำความรู้จักและติดตามดูกันค่ะ

Cashless Society คือ แนวคิดสังคมไม่ใช้เงินสด โดยในอนาคตความสำคัญของเงินสดจะลดน้อยลงและจะถูกแทนที่โดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมในการทำธุรกรรมทางการเงินแทน ไม่ว่าจะขึ้นรถเมล์ซื้อน้ำดื่มจากร้านสะดวกซื้อ หรือแม้กระทั่งการบริจาคก็มีการวาง QR Code ไว้ รวมไปถึงการจ่ายเงินผ่านกระเป๋าเงินออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Mobile Banking บัตรเครดิต และบัตรเดบิตด้วย

 

ข้อดี

  • สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ง่ายมากขึ้นช่วยผลักดันการใช้จ่ายและเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้น
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจในการแข่งขันระหว่างประเทศจากการลดต้นทุนที่มาจากธุรกรรมเงินสด
  • ลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินสดและลดภาระด้านเอกสารในการทำธุรกรรมทางการเงิน
  • ลดต้นทุนจากการพิมพ์เงิน ปั๊มเหรียญ
  • รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ข้อเสีย

  • อาจทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อเกินจำเป็นเพราะมีความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย และอาจทำให้ประสบปัญหาการออมเงิน และเพิ่มภาระหนี้สินได้
  • มีความเสี่ยงจากการทำมือถือหายเหมือนกับทำเงินหายทั้งบัญชี
  • สูญเสียความเป็นส่วนตัวในธุรกรรมทางการเงิน อันเนื่องมาจากความสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของธนาคารและรัฐบาล

 

ในส่วนของกระทรวงการคลังได้เดินหน้าสนับสนุนนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 ด้วยการเปิดประสบการณ์ใหม่ในการลดการใช้เงินสด มุ่งสู่สังคมไร้เงินสด เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาได้มีความคืบหน้าในการติดตั้งเครื่องรูดบัตรหรือเครื่องรับชำระบัตรหรือที่เรียกว่าเครื่องอีดีซีให้กับร้านค้าต่าง ๆในชุมชนหรือที่เรียกว่าร้านค้าธงฟ้าประชารัฐไปแล้วกว่า10,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งนอกจากผู้มีรายได้น้อยจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในเรื่องค่าครองชีพและลดค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนแล้ว ร้านค้าธงฟ้าเองก็ได้รับประโยชน์ในการมียอดขายเพิ่มมากขึ้น มีกำไรมากขึ้น ทำให้มีทุนหมุนเวียนในกิจการดีขึ้น และยังได้รับความสะดวกไม่ต้องคอยพะวงเรื่องการเก็บรักษาเงินสดให้ยุ่งยากอีกต่างหากด้วยสำหรับเสียงสะท้อนบางมุมที่มองว่า ร้านค้าธงฟ้าอาจจะถูกเรียกเก็บภาษีจากการประกอบธุรกิจนั้น เรามาดูรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นเกร็ดความรู้และเพื่อ จะได้คลายกังวลกับเรื่องภาษีกันสักหน่อยดีกว่า ซึ่งรูปแบบของการประกอบธุรกิจร้านธงฟ้าจะมีทั้งในรูปของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งจะมีภาษีที่เกี่ยวข้องอะไรบ้างนั้นขึ้นอยู่กับธุรกรรมและรายได้ของกิจการ แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีดังนี้

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง ได้แก่

  • ภ.ง.ด.94 ภายในเดือนกรกฎาคม-กันยายน สำหรับเงินได้ในเดือนมกราคม-มิถุนายน
  • ภ.ง.ด.90 ภายในเดือนมกราคม-มีนาคมของปีถัดไป สำหรับเงินได้ในเดือนมกราคม-ธันวาคม โดยนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ในครั้งที่ 2 นี้ด้วย

 

ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง ได้แก่

  • ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี
  • ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยนำภาษีที่จ่ายในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยมีหน้าที่ดังนี้
  • เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้า โดยสามารถใช้เครื่องบันทึกเงินสด (Cash register) ที่ออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินได้
  • จัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 ในแต่ละเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

 

ส่วนเรื่องการเสียภาษีก็จะคิดจากฐานภาษีของแต่ละประเภท ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบของกิจการ หากเป็นบุคคลธรรมดาก็จะมีวิธีคำนวณภาษี โดยนำรายได้ทั้งปีหักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ตามที่กฎหมายให้สิทธิได้เต็มที่แล้วถึงจะนำเงินได้สุทธิ หรือพูดง่าย ๆ ว่ากำไรที่ได้จริง ๆ ไปคำนวณภาษี หากเงินได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดต้องเสียภาษีก็เสียหากไม่ถึงก็ไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด หากเป็นกรณีในรูปของนิติบุคคล หากมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เพราะหากเป็นในรูปของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็สามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ เช่น เงินเดือน ค่ารับรอง ค่าทำบัญชี หรือค่าสอบบัญชี มาหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย และหากปีใดขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี แล้วยังนำผลขาดทุนมาเป็นค่าใช้จ่ายได้อีก 5 ปีอีกด้วย หรือหากในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของภาษีก็ไม่ได้น่ากลัวแต่อย่างใด แถมยังมีโอกาสได้เงินทุนหมุนเวียนจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับคืนมาอีกด้วย

 2,072 total views,  1 views today