080 175 2000 info@53ac.com

รู้ไว้ใช่ว่า…กับภาษีเงินได้ประจำปี

เดือนธันวาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี ผู้มีรายได้จากการประกอบอาชีพที่เป็นบุคคลธรรมดาจะต้องเตรียมตรวจสอบรายได้ของตนให้ครบ 12 เดือน เพื่อนำรายได้ที่ได้รับมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม มารวมกัน

แล้วตรวจสอบว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีหรือไม่ และหากถึงเกณฑ์จะต้องทำอย่างไร วารสารสรรพากรฉบับนี้มีคำตอบให้ทุกท่าน

 

1.ใครบ้างที่มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 และแบบ ภ.ง.ด.90

1.1 ผู้ที่มีเงินได้จากการจ้างแรงงานประเภทเดียวตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรจะต้องมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ตามเกณฑ์ดังนี้

– ผู้ที่เป็นโสด มีเงินได้พึงประเมินเกิน 120,000 บาท

– ผู้ที่มีคู่สมรส มีเงินได้พึงประเมินไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 220,000 บาท

1.2 ผู้ที่มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) – (8) แห่งประมวลรษั ฎากร หลายประเภทหรือประเภทเดียว (แต่มิใช่เงินได้ตามข้อ 1) จะต้องมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ตามเกณฑ์ ดังนี้

– ผู้ที่เป็นโสด มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

– ผู้ที่มีคู่สมรส มีเงินได้พึงประเมินไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาท

– กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

– ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

– คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

– วิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งมีเงินได้เกิน 1,800,000 บาท หรือมีเงินได้เกิน 60,000 บาทแต่ไม่เกิน 1,800,000 บาท ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

 

2.วิธีการคำนวณภาษี

2.1 ภาษีที่คำนวณจากเงินได้สุทธิ

เงินได้พึงประเมิน (เงินได้ทั้งปีที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 31 ธันวาคม)

หัก เงินได้ที่ได้รับยกเว้น

หัก ค่าใช้จ่าย

หัก ค่าลดหย่อน

หัก เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/การกีฬา/อื่น ๆ (ถ้ามี)

เงินได้สุทธิ

จำนวนเงินภาษี = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีแต่ละขั้น

2.2 ภาษีที่คำนวณจากเงินได้พึงประเมิน (เฉพาะแบบ ภ.ง.ด.90) หากเงินได้พึงประเมิน มีจำนวนตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป ให้นำเงินได้พึงประเมินทั้งหมด (ไม่รวมเงินได้ตามมาตรา 40(1)) คูณด้วย 0.005 หากคำนวณแล้วไม่เกิน 5,000 บาท ให้ชำระภาษีที่คำนวณจากเงินได้สุทธิตาม (1)

 

3.อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ใช้ในการคำนวณภาษี

เงินได้สุทธิ อัตรา
ไม่เกิน 150,000 บาท

เกิน 150,000 – 300,000 บาท

เกิน 300,000 – 500,000 บาท

เกิน 500,000 – 750,000 บาท

เกิน 750,000 – 1,000,000 บาท

เกิน 1,000,000 – 2,000,000 บาท

เกิน 2,000,000 – 5,000,000 บาท

เกิน 5,000,000 บาทขึ้นไป

ยกเว้น

ร้อยละ 5

ร้อยละ 10

ร้อยละ 15

ร้อยละ 20

ร้อยละ 25

ร้อยละ 30

ร้อยละ 35

 

เมื่อได้จำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระจากการคำนวณแล้ว ให้นำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ถ้ามี) และภาษีที่ชำระไว้แล้วตามแบบ ภ.ง.ด.94 (ถ้ามี) มาหักออกเหลือเท่าไหร่คือจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระทั้งนี้ หากจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้มีจำนวนมากกว่าจำนวนภาษีที่คำนวณได้ สามารถใช้แบบแสดงรายการเป็นแบบคำร้อง แจ้งความประสงค์ขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกินได้ทันทีพร้อมกับการยื่นแบบ และสำหรับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา และมีสัญชาติไทยสามารถแสดงเจตนาบริจาคภาษีที่ชำระให้พรรคการเมืองได้

 

4.กำหนดเวลายื่นแบบ

ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม หากไม่ยื่นแบบฯ ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

และยังต้องเสียเงินเพิ่มนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาจนถึงวันยื่นแบบร้อยละ 1.5 ต่อเดือนอีกด้วย

 

 

5.สถานที่ยื่นแบบ

สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา หรือ Internet ทาง Web Site ของกรมสรรพากร ที่ www.rd.go.th หรือจะยื่นผ่าน

Rd smart tax application ทางโทรศัพท์มือถือก็ได้

 

จะเห็นได้ว่าการเสียภาษีไม่ใช่เรื่องยาก หากมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนกำหนด พอถึงเดือนมกราคมก็สามารถยื่นแบบชำระภาษีได้ทันที และหากยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตจะได้รับสิทธิพิเศษให้ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีออกไปอีก 8 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบ ในฉบับหน้าจะนำเสนอเรื่องเงินได้ที่ได้รับยกเว้นค่าใช้จ่ายที่กฎหมายยอมให้หักและค่าลดหย่อน สำหรับเตรียมใช้ในการคำนวณภาษีต่อไป

 

 2,573 total views,  2 views today