080 175 2000 info@53ac.com

มาตรการภาษีการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Centre: IBC)

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดตั้งศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Centre: IBC) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและสอดรับกับแนวปฏิบัติของ Inclusive Framework on BEPS เป็นโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) มีแผนการปฏิบัติการที่น่าสนใจและประเทศไทยได้ให้ความสนใจและศึกษาเพื่อหามาตรการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะการโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ

 

มาตรการภาษีการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Centre: IBC) มาตรการภาษีการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ IBC เป็นมาตรการที่นำมาใช้เพื่อทดแทนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ ROH1, ROH2 และ IHQ

 

สาระสำคัญของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มีดังนี้

1.มาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters: ROH1) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไปถึงรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 และให้ค่าสิทธิที่ ROH1 ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ซึ่งการจดแจ้งรายใหม่ ROH1 ได้ยุติไปแล้วตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2561

2.มาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters: ROH2) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไปจนครบระยะเวลา 10 หรือ 15 รอบระยะเวลาบัญชี ตามกฎหมาย ROH2 และให้ค่าสิทธิที่ ROH2 ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ซึ่งการจดแจ้งราย ROH2 ได้ยุติไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2558

3.มาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไปจนครบระยะเวลา 15 รอบระยะเวลาบัญชีตามกฎหมาย IHQ ซึ่งการอนุมัติรายใหม่ได้ยุติไปแล้วตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2561

4.มาตรการภาษีเกี่ยวกับบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center: ITC) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไปจนครบระยะเวลา 15 รอบระยะเวลาบัญชีตามกฎหมาย ITC ซึ่งการอนุมัติรายใหม่ได้ยุติไปแล้วตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2561

 

มาตรการทางภาษีของ IBC มีดังนี้

1.ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้จากการให้บริการหรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือในประเทศและในต่างประเทศ และค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือในประเทศและในต่างประเทศ เหลือร้อยละ 8 หรือ 5 หรือ 3 ของกำไรสุทธิตามรายจ่ายในประเทศไทย 60 ล้านบาท หรือ 300 ล้านบาท หรือ 600 ล้านบาท แล้วแต่กรณี

2.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือในประเทศและต่างประเทศ

3.ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับจากการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือในประเทศและต่างประเทศ

4.ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IBC เหลือร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน

5.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยที่ได้รับจาก IBC

 

สิทธิประโยชน์ทางภาษี IBC จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด มีดังนี้

  • มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท
  • มีรายจ่ายในประเทศอย่างน้อย 60 ล้านบาท (ROH1, ROH2 และ IHQ ที่เปลี่ยนแปลงเป็น IBC ไม่ต้องใช้เงื่อนไขรายจ่ายของ IBC โดยใช้เงื่อนไขรายจ่ายของ ROH1, ROH2 และ IHQ เดิม)
  • มีพนักงานอย่างน้อย 10 คน (กรณีมีเฉพาะการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือ มีพนักงานอย่างน้อย 5 คน)

การปรับมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่และมาตรการภาษีใหม่ข้างต้น จะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการให้ความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อการจัดเก็บภาษีอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร

 

 4,743 total views,  1 views today