ภาษีที่เกี่ยวข้องเมื่อคิดทำธุรกิจพัฒนาแอพพลิเคชั่น
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสาร ทั้งเครือข่ายโทรคมนาคมและความนิยมในอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ส่งผลให้โมบายแอพพลิเคชั่นหรือโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์เคลื่อนที่นั้น มีบทบาทต่อการใช้งานในลักษณะต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เช่น การฟังเพลง เล่นเกม อ่านหนังสือ ดูรายการโทรทัศน์ย้อนหลัง หรือดูซีรีส์ต่างประเทศผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ หรือหน่วยงานของรัฐก็สามารถใช้โมบายแอพพลิเคชั่นเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารหรือทำการตลาดได้ ดังนั้น หากตัดสินใจจะทำธุรกิจดังกล่าว เราควรเรียนรู้การประกอบธุรกิจและเรียนรู้ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้วยนะคะ
ปัจจัยในการทำธุรกิจพัฒนาแอพพลิเคชั่น
นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นจำเป็นต้องมีความรู้ความชำนาญในวิทยาการคอมพิวเตอร์ และควรมีความรู้
หรือทักษะด้านอื่น ๆ ที่จะช่วยเสริมให้แอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขายได้ดีด้วย เช่น ความรู้ด้านธุรกิจและ
การตลาด การมีความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นมักทำงานกันเป็นทีมเพื่อแบ่งหน้าที่
ความรับผิดชอบกันตามความถนัดได้
การลงทะเบียนนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นกับผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟน
ระบบปฏิบัติการ (Operating System) หลัก ๆ ที่รองรับสมาร์ทโฟนมี 3 ระบบ ได้แก่ ระบบไอโอเอส (iOS)สำหรับสมาร์ทโฟนยี่ห้อแอปเปิ้ล ระบบแอนดรอยด์(Andriod) สำหรับสมาร์ทโฟนยี่ห้อซัมซุงหรือโซนี่ และระบบวินโดว์โฟน (Windows Phone) สำหรับสมาร์ทโฟนยี่ห้อโนเกีย ซึ่งนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นจำเป็นต้องทราบว่าเรากำลังจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับระบบปฏิบัติการอะไร เนื่องจากภาษาที่ใช้ในการเขียนแอพพลิเคชั่นและเงื่อนไขต่าง ๆ ของแต่ละระบบจะแตกต่างกันเช่น ระบบไอโอเอส (iOS) นิยมใช้ภาษาออปเจคทีฟ-ซี (Objective-C) และท่านจะต้องลงทะเบียนผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นในระบบไอโอเอส (iOS Development Program) และเสียค่าลงทะเบียน 99 ดอลลาร์สหรัฐ(ประมาณ 3,000 บาท) ต่อปี แต่ไม่มีค่าใช้จ่ายใน การวางแอพพลิเคชั่นขายในแอพสโตร์ (App Store)ในขณะที่ระบบแอนดรอยด์นิยมใช้ภาษาจาว่า (Java)และเสียค่าธรรมเนียม 25 ดอลลาร์สหรัฐ (จ่ายครั้งเดียว) จึงจะวางแอพพลิเคชั่นขายใน กูเกิ้ลเพลย์สโตร์ (Google Play Store) ได้
ส่วนแบ่งรายได้
รายได้ของนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นอิสระ จะขึ้นอยู่กับว่าแอพพลิเคชั่นที่เราพัฒนานั้น เป็นแอพพลิเคชั่นที่เปิดให้คนทั่วไปดาวน์โหลดได้ฟรี หรือเป็นแอพพลิเคชั่นที่ไว้จำหน่าย โดยถ้าเป็นแอพพลิเคชั่นที่วางจำหน่ายตามปกติ (Paid Application) ก็จะมีรายได้ส่วนแบ่งจากยอดขายหรือยอดดาวน์โหลด (เช่น ถ้าเป็นแอพพลิเคชั่น ในระบบไอโอเอสหรือระบบแอนดรอยด์ ผู้พัฒนาจะได้รับส่วนแบ่ง 70% ของยอดดาวน์โหลด) แต่ถ้าเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นฟรี (Free Application) ก็ยังสามารถมีรายได้เช่นกัน ทั้งจากส่วนแบ่งค่าโฆษณาและจากรายได้เสริมจากการใช้แอพพลิเคชั่น (เช่น ส่วนแบ่งค่าดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ (sticker) ในแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) หรือการขายไอเท็มในแอพพลิเคชั่นประเภทเกมต่าง ๆ)
การเริ่มต้นธุรกิจ
ต้องมีความรู้ทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ โดยเมื่อต้องการเริ่มธุรกิจพัฒนาแอพพลิเคชั่น เราสามารถจดทะเบียนธุรกิจได้ตามรูปแบบของกิจการและสามารถเข้าสู่ระบบภาษีได้โดยการขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและในกรณีที่มีเงินได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
ในขั้นตอนการเตรียมตัวเปิดธุรกิจนี้ หากมีการซื้อวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการประกอบธุรกิจ จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของภาษี ดังนี้
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ไม่ว่าจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือไม่ โดยเราจะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 จากผู้ขาย โดยผู้ขายจะออกใบกำกับภาษีให้ ซึ่งเราต้องจัดเก็บไว้เพื่อใช้สำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือน (กรณีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน) และเพื่อเป็นหลักฐานในการรับรู้รายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ และหากเราจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน เรามีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อด้วย
เมื่อเราเปิดให้บริการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและมีรายได้ก็ต้องมีภาษีเกิดขึ้น ดังนี้
- 1. ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้รับบริการ เมื่อได้รับชำระค่าบริการ
- 2. มีหน้าที่จัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 ในแต่ละเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
หากมีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงาน มีการเช่าสถานที่ตั้งก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่เราจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือโบนัส ฯลฯ
- 1. การจ้างลูกจ้าง ในกรณีที่เรามีลูกจ้างเราต้องทำการเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ที่เราจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือโบนัส ฯลฯ
- 2. การจัดหาสถานที่ตั้ง ผู้เช่าที่เป็นนิติบุคคลเมื่อจ่ายค่าเช่า มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง ได้แก่
- 1. ครั้งแรกยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.94 ในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน สำหรับเงินได้ในเดือนมกราคมถึงมิถุนายน
- 2. ครั้งที่ 2 ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.90 ในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป สำหรับเงินได้ในเดือนมกราคมถึงธันวาคม โดยนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ในครั้งที่ 2
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ต้องยื่นแบบชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่หรือทางอินเทอร์เน็ตปีละ 2 ครั้ง ได้แก่
- 1. ภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชียื่นตามแบบภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี
- 2. ภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชียื่นตามแบบภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยนำภาษีที่จ่ายในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้เมื่อสิ้นรอบเวลาบัญชี
- ภาษีศุลกากร
หากมีการนำวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการประกอบธุรกิจเข้ามาจากนอกประเทศ เรามีหน้าที่ต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้าซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
- 1. เริ่มจากการลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless)โดยลงทะเบียนเฉพาะครั้งแรกเท่านั้น
- 2. ผ่านพิธีการนำเข้าสินค้าโดยต้องศึกษาเรื่องพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเพิ่มเติมตามแต่ละประเภทของสินค้าที่นำเข้าจะเห็นว่า การทำธุรกิจนั้นท่านควรศึกษารายละเอียดธุรกิจ และภาษีที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบเสียก่อนเพื่อจะได้ไม่มีภาระภาษีที่จะเสียในภายหลังต่อไป
7,583 total views, 1 views today