ผู้ประกอบการ VAT REFUND FOR TOURISTS
ธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นกิจการที่มีความสำคัญและส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหลายกิจการ เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เพราะหากธุรกิจการท่องเที่ยวเติบโตขึ้น ก็จะส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมดีขึ้นตามไปด้วย ร้านค้าที่ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญในการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าและนำกลับไปใช้ในต่างประเทศ ซึ่งถือเสมือนการส่งออกที่จะทำให้ประเทศไทยมีรายรับที่สูงขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อสินค้าและสร้างรายได้ให้ผู้ผลิตและผู้ขายในประเทศให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยในส่วนของร้านค้าที่ได้ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเป็นสถานประกอบการขายสินค้าและมีสิทธิให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ขายสินค้าและมีสิทธิจัดทำคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งมีกำหนดคุณลักษณะและวิธีปฏิบัติ ดังนี้
การขอเป็นผู้ประกอบการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว
1 คุณสมบัติผู้ประกอบการ
(1) เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(2) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7
(3) ไม่เป็นผู้ประกอบการที่ถูกเพิกถอนการเป็นผู้ประกอบการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ถูกเพิกถอน
2 การยื่นคำขออนุมัติเป็นผู้ประกอบการ
(1) ยื่นแบบกระดาษด้วยแบบคำขออนุมัติ (คท.1) ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ หรือที่กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ กรมสรรพากร กรณีเป็นสถานประกอบการที่อยู่ในการกำกับดูแลของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
(2) ยื่นคำขอผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.rd.go.th/vrt
ขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติของผู้ประกอบการในระบบคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว
1.ผู้ประกอบการแต่ละสถานประกอบการต้องขอรับและติดแผ่นป้าย “VAT REFUND FOR TOURISTS” แสดงไว้ ณ ที่เปิดเผยให้นักท่องเที่ยวเห็นได้ชัดเจน
2.ขอรับแบบคำร้องขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ.10) จากสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่เป็นรายสถานประกอบการ
3.เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยว และยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
4.จัดทำใบกำกับภาษีขายและต้องระบุเลขที่หนังสือเดินทางของนักท่องเที่ยวลงในใบกำกับภาษีขายทุกฉบับ กรณีนักท่องเที่ยวซื้อสินค้าจากสถานประกอบการแห่งเดียวกันในวันเดียวกัน มีมูลค่ารวมตามใบกำกับภาษีไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ให้จัดทำแบบคำร้องขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ.10) และส่งมอบให้นักท่องเที่ยวพร้อมต้นฉบับใบกำกับภาษี
5.จัดทำรายงานคำร้องขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว (คท.9) และเก็บรักษาไว้ ณ สถานประกอบการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี
6.กรณีผู้ประกอบการมีการเพิ่มลด ย้ายสถานประกอบการเปลี่ยนชื่อผู้ประกอบการหรือสถานประกอบการ หรือไม่ประสงค์จะเป็นผู้ประกอบการในระบบคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวแล้ว ให้แจ้งต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ในท้องที่ที่สถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
สิทธิพิเศษของผู้ประกอบการในระบบคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว
1.ใช้ป้ายสัญลักษณ์ระบบคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว โดยติดต่อขอรับป้ายสัญลักษณ์ได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่ตั้งสถานประกอบการ และผู้ประกอบการสามารถจัดทำป้ายสัญลักษณ์รูปแบบที่กรมสรรพากรกำหนด ตามขนาดที่เหมาะสมกับสภาพสถานประกอบการได้
2.ได้รับสิทธิให้ใช้สัญลักษณ์ระบบคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวเผยแพร่ในเอกสารหรือ Web Site ของทางบริษัทเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย
3.ได้รับการส่งเสริมการขาย โดยกรมสรรพากรจะประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานประกอบการเช่น ภาพถ่ายสถานประกอบการ ภาพถ่ายสินค้าหรือแผนที่ตั้ง เป็นต้น ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร
4.ได้รับสื่อเผยแพร่ต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ระบบคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวเป็นภาษาต่างประเทศ ในการสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกค้าชาวต่างชาติ
5.ได้รับสื่อโฆษณาภาษาต่างประเทศ เพื่อแสดงขั้นตอนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว ในการสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกค้าชาวต่างชาติ
6.ได้รับคู่มือการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการในระบบคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
7.สามารถขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำการปฏิบัติเกี่ยวกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว ณ สถานประกอบการได้
4,093 total views, 2 views today