บริจาคอย่างไร? ไม่เสีย VAT
คนไทยส่วนใหญ่มีนิสัยโอบอ้อมอารี ใจบุญสุนทาน และหากพูดถึงการทำบุญ ก็มีทั้งการบริจาคเงินทรัพย์สิน สิ่งของที่มอบให้กับวัด โรงเรียน หรือสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ ด้วยความเชื่อว่าเป็นการสะสมบุญไว้
เพื่อในชาติหน้าจะได้ไม่ลำบาก และมีหลายคนที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้องระหว่างบุญกับทาน ว่าอย่างไรเป็นบุญ
อย่างไรเป็นทาน ซึ่งอันที่จริงแล้วการทำทาน หมายถึง การให้ การบริจาค หรือการแบ่งปัน นั่นเอง ในที่นี้วารสารสรรพากร จะขอพูดถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้รับหากต้องการบริจาคเงิน สิ่งของ ทรัพย์สิน ฯลฯ แต่จะต้องบริจาคอย่างไรจึงจะได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายละเอียดดังนี้
การบริจาคส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บจากการขายสินค้า และกฎหมายก็กำหนดให้ทรัพย์สินทุกอย่างไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการใด ถือเป็น “สินค้า” (มาตรา 77/1 (9) แห่งประมวลรัษฎากร) และการ “ขาย” ก็คือ การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้า (มาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร) ดังนั้น การบริจาคซึ่งเป็นการโอนอย่างหนึ่ง จึงถือเป็นการขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
หากเราบริจาคเงินไป 1 แสนบาท ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่? จะถูกเรียกเก็บภาษีหรือถูกตรวจย้อนหลังหรือไม่?
ต้องขอบอกว่า การบริจาค “เงิน” ไม่ใช่สินค้า เพราะฉะนั้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินที่บริจาคไป
เช่นนั้นแล้ว บริจาคอะไร? ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในที่นี้การบริจาค “สินค้า” เช่น อาหาร เสื้อผ้า ปากกา ยาสีฟัน กาแฟ ฯลฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากถือเป็นการขายสินค้าอย่างหนึ่ง และท่านต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึง บุคคลที่ขายสินค้าให้บริการในทางธุรกิจเป็นผู้บริจาคสินค้า หากท่านไม่ได้เป็นผู้ขายสินค้าให้บริการในทางธุรกิจ ท่านก็ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
ในกรณีที่ท่านเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กฎหมายกำหนดทางเลือกในการบริจาคสินค้า กรณีไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ 2 กรณี ได้แก่
1.ผู้ประกอบการบริจาคสินค้า แล้วจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อบริจาคให้แก่
(ก) สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ
(ข) องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือสถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่น นอกจากที่กล่าวใน (ก) ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดฯ สามารถดูรายชื่อได้ตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ซึ่งเป็นรายชื่อองค์กรเช่นเดียวกับที่บุคคลธรรมดาได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ (มาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534)
2.ผู้ประกอบการบริจาคสินค้าแล้วไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้าที่บริจาคมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี (ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเสีย) ได้แก่
(ก) การบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนบริจาคให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของ
ทางราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติในลักษณะทำนองเดียวกัน
(ข) การบริจาคทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนบริจาคให้แก่ส่วนราชการ
ตามโครงการของทางราชการ ให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาเอกชน หรือสถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (ข้อ 2 (19) (20) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) ฯ)
2,216 total views, 1 views today