080 175 2000 info@53ac.com

จ่ายเงินค่าสิทธิให้แก่นิติบุคคลต่างประเทศเกินจำนวนต้องทำอย่างไร

การดำเนินการใด ๆ ที่มีเรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นการนำเข้า software จากต่างประเทศ ย่อมมีประเด็นเกี่ยวกับภาษีที่ผู้เสียภาษีต้องพึงพิจารณา เนื่องจากการจ่ายเงินค่าสิทธิ (Royalty)

ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นกรณีบริษัทประกอบกิจการในประเทศไทยจ่ายเงินค่าสิทธิให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากรในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร (กรณีดังกล่าวใช้กับกรณีบุคคลธรรมดาจ่ายเงินค่าสิทธิให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศด้วย) ซึ่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายดังกล่าว ถือเป็นภาษีสุดท้าย (Final Tax) คือ ภาษีที่เสียเด็ดขาด ซึ่งเสร็จสิ้นเป็นรายครั้งไป

 

สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจเพิ่มขึ้น คือ อัตราภาษีที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งอาจลดลงจากอัตราร้อยละ 15 ได้ หากผู้มีเงินได้จากค่าสิทธิเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน (Double Taxation Agreement) กับประเทศไทย ซึ่งในทางปฏิบัติ ผู้เสียภาษีบางรายได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ได้ศึกษาหรือทราบเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับอนุสัญญาภาษีซ้อน ทำให้บริษัท (รวมทั้งบุคคลธรรมดา) หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย และนำส่งภาษีกรมสรรพากรเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสีย เช่น

 

บริษัท ก. จำกัด (บริษัทฯ) ประกอบกิจการการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก ได้ทำข้อตกลงการใช้สิทธิ (License Agreement) กับบริษัท เอตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ และไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เพื่อใช้รูปภาพ แบบดีไซน์กราฟิกของบริษัทเอ โดยการดาวน์โหลดทางสื่ออินเทอร์เน็ตเพื่อนำไปเป็นแบบพิมพ์และนำไปพิมพ์ลงบนผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯต่อมาบริษัทฯได้จ่ายเงินค่าสิทธิให้กับบริษัทเอโดยบริษัทฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.54 ในอัตราร้อยละ 15แต่เนื่องจากการจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิให้แก่

บริษัทเอ ดังกล่าว บริษัทฯมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 13แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น กรณีบริษัทฯ หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่งภาษีเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสีย ถือได้ว่าบริษัทเอ ถูกหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย และนำส่งไว้เกินบริษัทเอ จึงมีสิทธิขอคืนจำนวนภาษีที่ถูกหักไว้เกินได้ โดยยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร แบบ ค.10ภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นรายการภาษี ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

 

ในการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินค่าสิทธิ บริษัทซึ่งเป็นผู้หักและผู้ถูกหักณ ที่จ่าย ต้องเข้าใจและศึกษาเงื่อนไขของกฎหมายให้ชัดเจน และต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ไว้เกินไปภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย มิฉะนั้นอาจทำให้เสียสิทธิในการขอคืนเงินภาษีดังกล่าวได้

 

 

 2,326 total views,  1 views today