จ่ายเงินค่าฝึกอบรมไปต่างประเทศต้องเสียภาษีหรือไม่
การพัฒนาบุคลากรในสำนักงานถือเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบกิจการ โดยทั่วไป นายจ้างไม่ว่าจะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหรืออื่น ๆ อาจมีความประสงค์จะส่งพนักงานของตนไปฝึกอบรมในต่างประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้และนำมาปรับใช้กับลักษณะงานของนายจ้างในประเทศ ซึ่งเมื่อนายจ้างในประเทศไทยได้จ่ายเงินค่าฝึกอบรมออกไปให้ผู้รับจ้างในต่างประเทศ และผู้รับจ้างซึ่งเป็นผู้ให้การฝึกอบรมแก่พนักงานนั้นไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทยแต่อย่างใด นายจ้างซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมักตั้งคำถามว่า เมื่อจ่ายเงินออกไปแล้วตนมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินที่จ่ายออกไปและต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร ตามมาตรา 70 และมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่อย่างไร แยกพิจารณาภาระภาษีได้ดังนี้
ภาษีเงินได้
ประเด็นหลักที่ผู้จ่ายต้องพิจารณา คือ ผู้สอนหรือผู้ให้การฝึกอบรมเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทยนั้นได้มีการถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีสูตร หรือกรรมวิธีลับใด ๆให้แก่ผู้รับการฝึกอบรมหรือไม่ และบริษัทผู้สอนเป็นบริษัทที่มีสัญชาติตามประเทศที่ได้ลงนามในอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่
หากการให้บริการฝึกอบรมของบริษัทผู้สอนในต่างประเทศเป็นเพียงการให้ความรู้แก่พนักงานของบริษัทในประเทศไทยให้มีความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยมิได้มีลักษณะของการถ่ายทอดวิทยาการ การถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยี สูตร หรือกรรมวิธีลับใด ๆที่จะนำไปใช้ดำเนินการผลิตหรือเพิ่มผลผลิตแต่อย่างใด เงินที่จ่ายออกไปถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร นายจ้าง (ผู้จ่าย) ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
แต่ในทางกลับกัน หากบริษัทผู้สอนในต่างประเทศได้มีการถ่ายทอดวิทยาการ การถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยี สูตร หรือกรรมวิธีลับใด ๆ ให้แก่พนักงานนั้น เงินที่จ่ายออกไปให้แก่บริษัทในต่างประเทศถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร นายจ้าง (ผู้จ่าย) มีหน้าที่ต้องหักภาษีในอัตราร้อยละ 15 จากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.54 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ ผู้จ่ายต้องพิจารณาประกอบกับอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศซึ่งบริษัทในประเทศไทยได้จ่ายเงินค่าอบรมดังกล่าว เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ตามข้อ 12 แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 เป็นต้น
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
นอกจากกรณีภาษีเงินได้แล้ว ประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มคือ กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากการฝึกอบรมเข้าลักษณะเป็นบริการ ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร นายจ้างในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินค่าฝึกอบรมให้แก่บริษัทผู้สอนในต่างประเทศ จะมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ด้วยแบบ ภ.พ.36 ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยหรือไม่นั้นเป็นคำถามที่มักอยู่คู่กับการหักภาษีเงินได้ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรข้างต้น ซึ่งโดยปกติ การพิจารณาภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจะใช้หลักการเดียวกับกรณีภาษีเงินได้กล่าวคือ หากการฝึกอบรมดังกล่าวไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือให้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรมของผู้ให้บริการแต่อย่างใด การให้บริการดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับจ้างทั่วไปและถือว่าการให้บริการดังกล่าวเป็นบริการที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศมีการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้ใช้บริการอบรมดูงานที่ต่างประเทศ โดยไม่ได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร เมื่อผู้จ่ายในประเทศไทยได้จ่ายค่าตอบแทนออกไปให้แก่ผู้ให้บริการในต่างประเทศจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยแบบ ภ.พ.36 ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น บริษัท ก.ส่งพนักงานออกไปฝึกอบรมในบริษัท A ในต่างประเทศเพื่อให้เข้าใจภาพรวมของการซื้อขายหลักทรัพย์แบบ Online การทำการตลาดและการจัดการ ซึ่งการฝึกอบรมดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมการใช้ Software ที่บริษัท Aให้สิทธิแก่บริษัท ก. ใช้ เมื่อบริษัท ก. จ่ายเงินค่าฝึกอบรมออกไปให้บริษัท A บริษัท ก. จึงไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด เป็นต้น
ประเด็นการหักภาษีเงินได้และการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินค่าฝึกอบรมไปต่างประเทศนั้นมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง ดังนั้น ผู้จ่ายเงินจึงต้องศึกษาข้อเท็จจริงให้ชัดเจนว่าการจ่ายเงินดังกล่าวนั้นเป็นการจ่ายเงินเพื่อฝึกอบรมเพิ่มความรู้ให้พนักงานเป็นการทั่วไปหรือไม่ เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทใดและผู้ให้การฝึกอบรมอยู่ในประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่ ประเด็นต่าง ๆ นี้เป็นประเด็นหลัก ๆ ที่ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ และวิเคราะห์ให้ถูกต้องว่าผู้จ่ายมีหน้าที่ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่
8,700 total views, 1 views today