คืน VAT ให้นักท่องเที่ยวในเมือง
เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้นักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่จดทะเบียนขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยว ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 ถึง 31 มีนาคม 2562 นับเป็นเวลา 6 เดือนกับโครงการนำร่องที่กรมสรรพากรเปิดให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวในเมืองผ่านตัวแทนที่ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรได้โดยผู้ได้รับอนุมัติให้เป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวในเมืองครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิสจำกัด โดยจะให้บริการที่ 7-11/ลิโด้ 7-11/แบงค์ค๊อกไนท์บาซาร์ และ 7-11/ผดุงด้าว (เยาวราช)ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้นักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่จดทะเบียนขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยว สามารถขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้านค้า 7-11 สาขาดังกล่าวได้ เพื่อจะได้นำเงินที่ได้รับคืนไปใช้สอยต่อได้อีกตั้งแต่อยู่ในเมืองได้สะดวกขึ้น วารสารสรรพากรฉบับนี้ได้นำข้อมูลคุณสมบัติของนักท่องเที่ยวที่มีสิทธิขอคืน รวมถึงเงื่อนไขในการดำเนินการตามมาตรการนี้ มาเสนอเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับท่านได้ทราบ ดังนี้
นักท่องเที่ยวที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
1 ไม่เป็นผู้มีสัญชาติไทย
2 ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย
3 ไม่เป็นนักบินหรือลูกเรือของสายการบินที่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
4 เดินทางออก ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง
5 ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ VAT REFUND FOR TOURISTS ที่ได้รับอนุมัติตามประกาศอธิบดี
กรมสรรพากร
6 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วเป็นเงินสดได้ในจำนวนไม่เกิน 12,000 บาท โดยการแต่งตั้งตัวแทนที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
เงื่อนไขและหน้าที่ของนักท่องเที่ยวผู้ประสงค์ขอคืนภาษี
- แจ้งความประสงค์ที่จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้า เพื่อให้จัดทำ
(1) ใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 หรือมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี โดยระบุเลขที่หนังสือเดินทางของผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร
(2) คำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
- แสดงหนังสือเดินทางต่อผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้า
- 3. แต่งตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีเป็นหนังสือ
- 4. ใบกำกับภาษีและคำร้องขอคืน (ภ.พ.10) ที่ได้แต่งตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนแล้ว จะไม่สามารถนำไปใช้ ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศได้อีก
- 5. นำสินค้าพร้อมคำร้องขอคืน (ภ.พ.10) และใบกำกับภาษี แสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร เพื่อให้ประทับรับรองในคำร้องขอคืนขณะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- กรณีเป็นสินค้าประเภทอัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือน หรือของรูปพรรณ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตาปากกา โทรศัพท์แบบพกพาหรือสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แบบพกพา กระเป๋า เข็มขัด ที่มีมูลค่าสินค้าแต่ละชิ้นตั้งแต่ 10,000 บาท หรือสินค้าที่สามารถนำติดตัวไปพร้อมกับการเดินทางที่มีมูลค่าของสินค้าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาท ต้องแสดงสินค้าต่อเจ้าพนักงานสรรพากร ณ จุดบริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อประทับรับรองการมีสินค้าลงในคำร้องขอคืนอีกครั้งหนึ่ง
- นำส่งคำร้องขอคืน (ภ.พ.10) พร้อมใบกำกับภาษีในกล่องรับแบบคำร้องขอคืน (ภ.พ.10) (Drop Box) ที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณด้านหน้าสำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวประจำท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิด้านตะวันตกและด้านตะวันออก และบริเวณด้านหน้าสำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวประจำท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง
สินค้าที่สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
- เป็นสินค้าที่นำไปพร้อมกับการเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร
- ไม่เป็นสินค้าต้องห้าม ได้แก่ อาวุธปืน วัตถุระเบิด หรือที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน อัญมณีที่ยังไม่ประกอบ
ขึ้นเป็นตัวเรือน หรือของรูปพรรณ
- กรณีเป็นสินค้าที่บริโภคได้ในราชอาณาจักร ต้องได้รับการบรรจุหีบห่อ (Seal) โดยมีสัญลักษณ์ของผู้ประกอบการจดทะเบียนผนึกในลักษณะมั่นคง และมีข้อความ “No Consumption made whilst in Thailand” แสดงให้เห็นชัดเจนบนหีบห่อ
- สินค้าที่ซื้อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 2,000 บาท โดยการซื้อจากร้านค้าแต่ละแห่งต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อวัน
- ต้องนำสินค้าออกนอกราชอาณาจักรภายใน 14 วัน นับแต่วันที่มีหนังสือแต่งตั้งตัวแทน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันซื้อสินค้าและแจ้งความประสงค์ที่จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้จัดทำคำร้องขอคืน (ภ.พ.10)
มาตรการนี้เป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าได้รับเงินคืนไว้ใช้สอยต่อได้รวดเร็วขึ้น และยังเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการเปิดให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมืองในครั้งนี้เป็นโครงการทดลองที่มีระยะเวลาให้บริการ 6 เดือนตามที่กล่าวข้างต้น และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาทดลองแล้ว กรมสรรพากรจะได้ประเมินผลเพื่อนำเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาว่า ควรดำเนินการเป็นโครงการระยะยาวต่อไปหรือไม่อย่างไร จึงถือเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไป ทั้งนี้ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th/vrt และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร RD Intelligence Center โทร.1161
2,431 total views, 1 views today