ขายบ้านเก่าซื้อบ้านใหม่ อย่าลืม ขอภาษีคืน
ท่านที่เคยขายบ้านเก่าเพื่อซื้อบ้านใหม่ หลายท่านคงทราบว่าจะต้องเสียภาษีเงินได้จากการขายในวันที่ทำการขายด้วยทุกครั้งซึ่งก็จะมีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และอากรแสตมป์แต่ก็อาจมีหลายท่านที่ไม่ทราบมาก่อนเลยว่า ในกรณีที่ขายบ้านเดิมเพื่อไปซื้อบ้านใหม่ สามารถขอคืนภาษีที่เสียไปนั้นได้ เพราะไม่ถือเป็นรายได้ แล้วทำยังไงถึงจะมีสิทธิขอคืนได้นั้น เรื่องนี้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125) ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1 เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นบ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น หรืออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดสำหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้มีเงินได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและยกเว้นอากรแสตมป์นั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข ดังนี้
(1) เงินได้ จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
(2) ผู้มีเงินได้ จะใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยประกอบกิจการของตนเองด้วยก็ได้
(3) กรณีผู้มีเงินได้ ได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่และได้โอนชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ก่อนที่จะขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมนั้น ผู้มีเงินได้จะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของอสังหาริมทรัพย์ที่ขายน้อยกว่า 1 ปีก็ได้ แต่เมื่อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมไประยะเวลาการมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมและอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ นับถึงวันขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่า 1 ปี
(4) การมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดถึง 1 ปี ให้ถือว่ามีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรไม่น้อยกว่า 1 ปี
(5) กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรสของสามีภริยา คู่สมรส ทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี
(6) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย อันเป็นแหล่งสำคัญของแต่ละคนโดยมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์นั้น
2 ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและยกเว้นอากรแสตมป์ ตามข้อ 1 ผู้มีเงินได้ซึ่งได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5) แห่งประมวลรัษฎากรไว้แล้ว มีสิทธิขอคืนได้โดยจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในกรณีดังกล่าวตามแบบที่อธิบดีกำหนด (แบบ ค.10) ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่ผู้มีเงินได้มีภูมิลำเนา โดยจะต้องแนบหลักฐานต่าง ๆ ได้แก่
(1) ต้นฉบับใบเสร็จรับเงินค่าภาษีเงินได้ และค่าอากรแสตมป์ฉบับที่กรมที่ดินออกให้ สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิม
(2) สำเนาคู่ฉบับสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิม ที่ใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(3) สำเนาคู่ฉบับสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ที่ใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(4) สำเนาทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของผู้มีเงินได้สำหรับอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ (ในกรณีมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร สำหรับอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมน้อยกว่า 1 ปี ตามข้อ 1(3))
หลักเกณฑ์ข้างต้น สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่าการขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และอากรแสตมป์ในกรณีนี้ต้องเป็นการขายบ้านเก่าที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยที่มีชื่อผู้ขอคืนอยู่ในทะเบียนบ้านอย่างน้อย 1 ปีและซื้อบ้านใหม่ภายใน 1 ปี (ซื้อหรือขายก่อนก็ได้แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 1 ปี) การขอคืนภาษี ให้ดูจากการขายเป็นหลัก ถ้าบ้านหลังเดิมมีชื่อ 2 คน ถือว่าเป็นคณะบุคคล (ยกเว้นกรณีสามีและภรรยาที่จดทะเบียนสมรส) ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการขอคืนโดยการขอคืนภาษีนั้นต้องไม่มากกว่าราคาบ้านใหม่ที่ซื้อ เช่น ขายบ้านเก่าราคา 2 ล้านบาท แล้วซื้อบ้านใหม่ราคา 3 ล้านบาท ก็สามารถขอคืนภาษีและอากรแสตมป์ได้เต็มจำนวนของบ้านหลังเก่าที่ถูกหักไป แต่หากขายบ้านเก่าราคา 5 ล้านบาท แล้วซื้อบ้านใหม่หลังเล็กลงในราคา 2 ล้านบาท ก็จะขอคืนภาษีได้ไม่เกินราคาของบ้านหลังใหม่ 2 ล้านบาท (ดูตามราคาประเมิน) เมื่อทำความเข้าใจกับหลักเกณฑ์แล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดได้
สนใจบริการ หรือ ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัท นารา การบัญชี จำกัด
กรณีเร่งด่วน/ หลังเลิกงาน โทร 080 175 2000 คุณ ธนา
Line ID: @nara53 |
แผนที่
https://goo.gl/maps/GBPpLfS42QsZg4jf6
เดินทาง รถไฟฟ้า สายสีเหลือง สถานี โชคชัย 4 ประตูทางออก 4 นาราฯ อยู่ในซอยลาดพร้าว 52
2,669 total views, 2 views today