ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล
ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความสะดวกในการดำเนินธุรกรรม การบริหารจัดการและรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องมีการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี การดำเนินการของภาครัฐก็มีการปรับเปลี่ยนการให้บริการ การให้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งได้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 (บางส่วน) ได้บัญญัติไว้เกี่ยวกับการดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
1.ให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม
มาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
2.ให้มีการบูรณาการฐานข้อมูล
ของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นระบบข้อมูลในการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน
หน่วยงานภาครัฐ จึงได้มีการจัดพิจารณาจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎระเบียบ เพื่อรองรับการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลมีการดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายอยู่หลายฉบับที่เกี่ยวข้อง อาทิ
(1) พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
เป็นการดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคประชาชน อาทิ การจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในการเข้ารับบริการกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเผยแพร่ ณ สถานที่ที่กำหนดให้ยื่นคำขอรับบริการและผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การจัดให้ส่วนราชการมีศูนย์บริการร่วมเพื่อให้บริการหรือรับเรื่องต่าง ๆจากประชาชน การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ในการรับคำขอจะต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นต้น
(2) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
เป็นกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
(3) พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
กฎหมายนี้จำกัดความเกี่ยวกับการดำเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นแนวโน้มการติดต่อสื่อสารและการทำธุรกรรมรูปแบบใหม่ที่ยังอาจไม่มีกฎหมายครอบคลุมหรือรองรับ โดยให้ถือให้การดำเนินธุรกรรมในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ มีความถูกต้องทางกฎหมายเช่นเดียวกับการดำเนินการในรูปแบบอื่น เช่น การดำเนินการด้วยเอกสาร เป็นต้น
(4) ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
เป็นกฎหมายว่าด้วยความสำคัญของการคุ้มครองและปกป้อง มิให้ผู้ใดนำข้อมูลส่วนบุคคลไปแสวงหาประโยชน์หรือเปิดเผยข้อมูลโดยมิชอบหรือโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือเพื่อประโยชน์ในการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในการกระทำผิดต่าง ๆ
(5) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
เป็นกฎหมายว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา
ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ในการยกระดับภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานมีการทำงานแบบอัจฉริยะให้บริการ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง โดยในหลักการของแนวทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 4 แนวทาง ได้แก่
(1) แนวทางด้านการบริการประชาชนด้วยดิจิทัล
(2) แนวทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินด้วยดิจิทัล
(3) แนวทางด้านการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ
(4) แนวทางด้านความมั่นคงปลอดภัยในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐ
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งที่เป็นส่วนราชการ ภาคธุรกิจ ประชาชน ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านการบูรณาการการทำงานและมีการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกัน จึงต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีการกำหนด Roadmap ที่ชัดเจนในแต่ละขั้นตอน ซึ่งการใช้ดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการตรวจสอบและสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการที่รวดเร็ว อำนวยความสะดวก และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้น โดยมาตรการเร่งด่วนที่ภาครัฐจะยกเลิกการเรียกสำเนาเอกสารจากประชาชน เมื่อต้องมีการติดต่อหน่วยงานรัฐเพื่อลดภาระประชาชน อาทิ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น โดยคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ลดภาระทั้งในแง่ของค่าใช้จ่าย และระยะเวลาของประชาชนด้วยระบบดิจิทัลเป็นหลักและให้มีช่องทางการสื่อสาร การเชื่อมต่อให้ประชาชน และสาธารณชนทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป
2,108 total views, 1 views today