080 175 2000 info@53ac.com

กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีทางอ้อมที่เก็บจากผู้บริโภคภายในประเทศ ส่วนใหญ่แล้วเราจะรู้จักภาษีประเภทนี้

ก็ต่อเมื่อมีการโอนหรือซื้อขายบ้านกัน ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่งสำหรับใช้บังคับจัดเก็บภาษีจากกิจการเฉพาะอย่างที่ไม่เหมาะที่จะให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มีลักษณะคล้ายกับภาษีการค้าที่ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยถ้ากิจการใดเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้วจะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกเพื่อป้องกันการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน ในที่นี้เราจะมาทบทวนกันว่าการประกอบกิจการในราชอาณาจักรประเภทใดที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะบ้าง ดังนี้

 

1.การธนาคาร

ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายเฉพาะ

 

2.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

 

3.การรับประกันชีวิต

ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต

 

4.การรับจำนำ

ตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ

 

5.การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์

เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออกซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ

 

ในกรณีที่มีปัญหาว่า กิจการใดเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์หรือไม่ อธิบดีกรมสรรพากรจะเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรพิจารณากำหนดขอบเขตและเงื่อนไขของการประกอบกิจการดังกล่าวนั้นก็ได้ และเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้วินิจฉัยแล้ว ให้ประกาศคำวินิจฉัยนั้นในราชกิจจานุเบกษา

 

6.การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร

ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 (ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป) ดังต่อไปนี้

 

การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือว่าเป็นทางการค้าหรือหากำไรตามพระราชกฤษฎีกาฯ ได้แก่ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ดังต่อไปนี้

(1) การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน

(2) การขายห้องชุดของผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

(3) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย รวมถึงการขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว

(4) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม  (1) (2) หรือ (3) เฉพาะกรณีที่มีการแบ่งขายหรือแบ่งแยกไว้เพื่อขาย โดยได้จัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น หรือให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีสิ่งดังกล่าว

(5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล

(6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) (5) ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่

(ก) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) (5) ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่

(ข) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก

(ค) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญที่ผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ที่นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นในกรณีที่ที่ดินและอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างตาม (ค) ได้มาไม่พร้อมกันในกำหนดเวลา 5 ปี ตามความใน (6) ให้ถือตามระยะเวลาการได้มาซึ่งที่ดินหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาภายหลัง

(ง) การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายของตน แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม

(จ) การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม

(ฉ) การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลโดยไม่มีค่าตอบแทน

(ช) การแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์กับส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลเฉพาะในกรณีที่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลนั้นมิได้มีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นอย่างอื่น นอกจากอสังหาริมทรัพย์ที่แลกเปลี่ยนนั้น

 

หมายเหตุ ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตาม (6) ซึ่งได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเสียภาษีเงินได้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 376) พ.ศ. 2544)

(7) การขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์

(8) การประกอบกิจการอื่น ตามกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

กำหนดให้กิจการซื้อและขายคืนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์เป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากการประกอบกิจการซื้อหรือขายคืนหลักทรัพย์โดยมีสัญญาหรือซื้อคืนดังกล่าวมีลักษณะอื่นที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 350) พ.ศ. 2524)

 

กำหนดให้การประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับการให้กู้ยืมเงินที่เป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 358) พ.ศ. 2542)

 

คำว่า “ธุรกิจแฟ็กเตอริง” หมายความว่า ธุรกิจที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการตกลงจะโอนทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้ เนื่องจากการขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างตนกับลูกหนี้ของตนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง โดยผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงตกลงจะให้สินเชื่อซึ่งรวมถึงการให้กู้ยืมและการทดรองจ่ายแก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการและรับที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(ก) จัดให้มีบัญชีทรัพย์สินที่จะได้รับการชำระหนี้

(ข) เรียกเก็บทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้

(ค) รับผิดชอบในหนี้ที่ลูกหนี้ของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการผิดนัด

 

 

 2,164 total views,  1 views today