การให้ของขวัญ ของแจก เสียภาษีอย่างไร?
จากที่ได้นำเสนอข้อมูลประเด็นการจัดงานปีใหม่เสียภาษีอย่างไรไปก่อนหน้าแล้ว ในที่นี้ยังมีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลปีใหม่ที่เป็นประเพณีของหลายบริษัทที่ต่างสรรหาสิ่งของต่าง ๆ เพื่อเป็นของกำนัลแก่ ผู้หลักผู้ใหญ่หรือลูกค้าที่ให้ความอุปการะในสินค้าและผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งอาจมีคำถามต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นว่าแล้วบริษัทควรจัดการหรือปฏิบัติทางภาษีกับการให้ของขวัญของแจกเหล่านี้อย่างไร?
ซื้อกระเช้าของขวัญแจกลูกค้าในเทศกาลนำภาษีซื้อมาขอเครดิตได้หรือไม่
- ภาษีซื้อ ที่เกิดจากการซื้อกระเช้าของขวัญมาแจกหรือให้เป็นของขวัญแก่ลูกค้าเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น เทศกาลปีใหม่เทศกาลสงกรานต์ การเปิดแนะนำสินค้าใหม่ โดยมีนามบัตรของบริษัทที่ระบุชื่อ ที่อยู่ และเครื่องหมายการค้าของบริษัทติดที่กระเช้าของขวัญดังกล่าว เป็นภาษีซื้อต้องห้ามมิให้นำไปหักออกจากภาษีขาย ตามมาตรา 82/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)
- ภาษีขาย หากกระเช้าของขวัญดังกล่าวเป็นสิ่งของที่บริษัทพึงให้แก่ลูกค้าตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป
และมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควรแล้ว บริษัทไม่ต้องนำมูลค่าของกระเช้าดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2 (6) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)
แจกของขวัญให้ลูกค้า บริษัทนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ เป็นจำนวนเท่าไรที่กรมสรรพากรจะไม่ต้องให้มา บวกกลับและนำมาเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล ค่าของขวัญนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราว
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ. 2522)
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อของขวัญแจกเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)
ให้เช็คของขวัญกับพนักงาน ถือเป็นรายจ่ายของบริษัทได้หรือไม่
ไม่ถือเป็นรายจ่าย เนื่องจากเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
จ้างทำของขวัญแล้วใส่โลโก้ของบริษัท ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
หากผู้รับจ้างมิได้ผลิตขายเป็นปกติทั่วไป แต่เป็นการผลิตสินค้าตามคำสั่งของลูกค้า ซึ่งสินค้าจะมีลักษณะเฉพาะขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า โดยเมื่อผลิตสินค้าเสร็จแล้ว ลูกค้าตกลงจะยอมรับสินค้าที่ตรงตามคำสั่งของตนเท่านั้น กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญผู้ว่าจ้างจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่จ่ายเงินได้ให้บริษัทในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528ฯ แต่หากเป็นการผลิตขายเป็นปกติทั่วไปอยู่แล้ว การจ่ายเงินได้ดังกล่าวจะถือเป็นการซื้อสินค้า ผู้จ่ายเงินไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
3,471 total views, 1 views today