080 175 2000 info@53ac.com

กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ คืออะไร

กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ คือ กฎหมายที่ออกมาเพื่อรองรับให้ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่ไม่เป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินในการใช้เป็นหลักประกัน เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น มาเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินได้

หลักประกันทางธุรกิจแตกต่างจากค้ำประกันจำนำ จำนอง อย่างไร

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ปัจจุบันกำหนดให้มีการประกัน 3 ประเภท ได้แก่ (ประกันด้วยบุคคล) จำนอง (ประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์บางประเภท) จำนำ (ประกันด้วยสังหาริมทรัพย์) แต่มีข้อแม้จำกัดคือ ทรัพย์สิน ที่สามารถนำมาจำนองได้จำกัดเฉพาะอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์พิเศษบางประเภทเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินที่สามารถนำมาจำนองได้ คือ สังหาริมทรัพย์ แต่ต้องมีการส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำให้แก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนำยึดถือไว้ แต่สัญญาหลักประกันทางธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินทุกชนิดมาเป็นหลักประกันได้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถใช้ทรัพย์สินดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ และช่วยลดข้อจำกัดด้านหลักประกัน

เมื่อพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจมีผลบังคับใช้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น

            ทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แต่เดิมนำมาเป็นหลักประกันไม่ได้ เช่น กิจการ สิทธิเรียกร้อง บัญชีเงินฝากในธนาคาร สินค้าคงคลังวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า เครื่องจักร อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า เป็นต้น นับแต่มีกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ทรัพย์สินต่างๆ ดังที่ยกตัวอย่างมาสามารถนำไปเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ สรุปง่ายๆก็คือ ทรัพย์สินทุกชนิดนำมาเป็นหลักประกันได้ตามกฎหมาย ผู้ให้หลักประกัน  และผู้รับหลักประกัน จะต้องตกลงกันเองว่าจะให้และจะรับหลักประกันดังกล่าวหรือไม่

ผู้ใช้หลักประกัน คือใคร

ผู้ใช้หลักประกัน  คือ ผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ ที่มุ่งหมายจะใช้ทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินเพื่อใช้การประกอบธุรกิจ

ผู้รับหลักประกัน  คือใคร

ผู้รับหลักประกันต้องเป็นสถาบันการประกอบธุรกิจ ซึ่งหมายถึง

(1) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(2) บริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และบริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย

(3) ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(4) บุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ มีอะไรบ้าง

ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ คือ

(1) กิจการ หมายถึง ทรัพย์สินที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจและสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและสิทธิต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจนั้นที่ผู้ให้หลักประกันนำมาใช้เป็นประกันการชำระหนี้ ซึ้งผู้ให้หลักประกันอาจโอนบรรดาทรัพย์สินและสิทธิต่างๆที่เกี่ยวข้องนั้นให้แก่บุคคลอื่นในลักษณะที่ผู้รับโอนสามารถประกอบธุรกิจดังกล่าวต่อไปได้ทันที ทรัพย์สินมีทะเบียน”หมายความว่า ทรัพย์สินที่กฎหมายกำหนดให้มีทะเบียนสิทธิ

(2) สิทธิเรียกร้อง หมายถึง สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้และสิทธิอื่นๆแต่ไม่หมายความรวมถึงสิทธิที่มีตราสาร

(3) สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า

(4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง

(5) ทรัพย์สินทางปัญญา

(6) ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การก่อให้เกิดสัญญาหลักประกันทางธุรกิจต้องทำอย่างไร

การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันต้องดำเนินการ ดังนี้

(1) ผู้ให้หลักประกันตกลงทำสัญญากับผู้รับหลักประกัน

(2) ผู้รับหลักประกันโดยรับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้หลักประกันเป็นผู้ดำเนินการขอจดทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อเจ้าพนักงานทะเบียน

(3) เจ้าพนักงานทะเบียนตรวจสอบความครบถ้วนของรายการจดทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียม

(4) ผู้ขอจดทะเบียนชำระค่าธรรมเนียม

(5) เจ้าพนักงานมีคำสั่งรับจดทะเบียน

รายการจดทะเบียน มีอะไรบ้าง

การจดทะเบียนอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(1) วันเดือนปี และเวลาที่จดทะเบียน

(2) ชื่อและที่อยู่ของลูกหนี้และผู้ให้หลักประกัน

(3) ชื่อและที่อยู่ของผู้รับหลักประกัน

(4) ชื่อและที่อยู่ของผู้รับใบอนุญาตซึ่งยินยอมเป็นผู้บังคับหลักประกันและอัตราหรือจำนวนค่าตอบแทนของผู้บังคับหลักประกัน ในกรณีที่นำกิจการมาเป็นหลักประกัน

(5) หนี้ที่กำหนดให้มีการประกันการชำระ

(6) รายละเอียดของทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน หากเป็นทรัพย์สินมีทะเบียนให้ระบุประเภทของทะเบียน หมายเลขทะเบียน และนายทะเบียนไว้ด้วย หากเป็นสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ ให้ระบุประเภท ชนิด ปริมาณ และมูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าวไว้ด้วย

(7) ข้อความที่แสดงว่าผู้ให้หลักประกันตราทรัพย์สินที่ระบุในรายการจดทะเบียนไว้แก่ผู้รับหลักประกันการชำระหนี้

(8) จำนวนสูงสุดที่ตกลงใช้ทรัพย์สินเป็นประกัน

(9) เหตุบังคับหลักประกันตามสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ

(10) รายการอื่นตามที่เจ้าพนักงานทะเบียนกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผลของการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจเป็นอย่างไร

เมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว

– เจ้าหนี้ ถือเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน  ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้สามัญ แม้ว่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้ว ยกเว้น บุคคลภายนอกได้ทรัพย์สินไปตามทางการค้าปกติ หรือโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน

– ลูกหนี้ มีสิทธิได้รับเงินกู้

ความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาหลักประกัน

สัญญาหลักประกันระงับสิ้นไป ด้วยเหตุดังต่อไปนี้

(1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประกอบอื่นใดอันมิใช่เหตุอายุความ

(2) ผู้รับหลักประกันและผู้ให้หลักประกันตกลงกันเป็นหนังสือให้ยกเลิกสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ

(3) เมื่อมีการไถ่ถอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

(4) เมื่อมีการบังคับหลักประกันโดยการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหรือโดยการบังคับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับหลักประกัน

ในระหว่างสัญญาหากลูกหนี้ผิดพลาด ธุรกิจล้มเหลวไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผลจะเป็นอย่างไร

เมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้เงินกู้ หรือมีเหตุบังคับหลักประกันอื่นตามที่คู่สัญญาตกลงกันไว้เกิดขึ้น ลูกหนี้อาจเลือกเจรจาขอผ่อนปรมกับเจ้าหนี้ตาหากการเจรจาไม่เป็นผล เจ้าหนี้อาจตัดสินใจบังคับหลักประกันก็ได้ ซึ่งเจ้าหนี้ต้องแจ้งเหตุบังคับหลักประกันเป็นหนังสือไปให้ผู้ให้หลักประกันทราบเมื่อได้รับแจ้งแล้ว ถ้าผู้ให้หลักประกันยินยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเจ้าหนี้สามารถขายหรือเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ซึ่งเป็นการบังคับหลักประกันระหว่างเอกชนด้วยกันเอง โดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลเป็นการสร้างกระบวนการบังคับหลักประกันที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมกับคู่สัญญา แต่ถ้าผู้ให้หลักประกันไม่ยินยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเจ้าหนี้ต้องบังคับหลักประกันโดยการฟ้องร้องคดีต่อศาล

การพิจารณาคดีของศาลตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไปอย่างไร

การพิจารณาคดีของศาลมีขั้นตอนและกระบวนการที่รวดเร็ว อาทิ เช่น ศาลจะนัดพิจารณาโดยเร็ว และศาลพิจารณาคดีติดต่อกันจนกว่าจะเสร็จพิพากษาหรือคำสั่งศาลสามารถอุทธรณ์ได้แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

การบังคับหลักประกันต้องทำอย่างไร

วิธีการบังคับหลักประกันแบ่ง เป็น 2 กรณี

กรณีที่ 1 การบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน ผู้รับหลักประกันอาจบังคับหลักประกันโดยให้ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหลุดเป็นสิทธิ หรือโดยจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

กรณีที่ 2 การบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการให้ดำเนินการโดยจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยผู้บังคับหลักประกันเป็นผู้ทำการไต่สวนข้อเท็จจริง กำหนดวิธีการที่เหมาะสมในการจำหน่ายกิจการ และจัดสรรเงินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้

ผู้บังคับหลักประกัน คือใคร

ผู้บังคับหลักประกัน คือ ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานทะเบียนให้เป็นผู้บังคับหลักประกันสำหรับการนำกิจการมาเป็นหลักประกัน

ผู้บังคับหลักประกันมีอำนาจหน้าที่อย่างไร

ผู้บังคับหลักประกัน มีหน้าที่ เช่น

(1) ไต่สวนข้อเท็จจริงเหตุบังคับหลักประกัน

(2) ตรวจสอบและประเมินราคากิจการที่เป็นหลักประกัน

(3) กำหนดวิธีการที่เหมาะสมในการจำหน่ายกิจการที่เป็นหลักประกัน

(4) บำรุงรักษา จัดการและดำเนินกิจการที่เป็นหลักประกันจนกว่าจะจำหน่ายกิจการที่เป็นหลักประกันได้

(5) ดำเนินการจำหน่ายกิจการที่เป็นหลักประกัน และจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้

การปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับหลักประกันต้องคำนึงหลักเกณฑ์ใดเป็นสำคัญ

ผู้บังคับหลักประกันต้องมีความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตน และปฏิบัติหน้าที่อย่างรวดเร็ว เป็นธรรม เป็นกลาง เป็นไปตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายมิฉะนั้น อาจถูกคัดค้านต่อศาลได้ หรืออาจต้องรับผิดทางอาญา หากกระทำโดยทุจริต

บทกำหนดโทษกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ มีอย่างไร

บทกำหนดโทษ แบ่งออกได้เป็น 2 เรื่อง

(1) บทบัญญัติที่ลงโทษผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับสัญญาหลักประกันซึ่งมีหน้าที่กระทำการแต่ไม่กระทำการ หรือมีหน้าที่ต้องปฏิบัติแต่ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว

(2) บทบัญญัติที่ลงโทษผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับสัญญาหลักประกันโดยมีเจตนาทุจริต ซึ่งมีโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทสรุป  กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะสามารถสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ช่วยขยายโอกาสแก่ผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ของประเทศ ช่วยทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้นในการเข้าสู้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งมีผลต่อการจัดอันดับความง่ายต่อการประกอบธุรกิจของประเทศ (Ease doing business)~ของธนาคารโลก (world bank)

SMEs ยิ้มรับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ

กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก  มีบทบาทสำคัญในด้านที่เห็นแหล่งการจ้างงาน และมีส่วนสำคัญทำให้เกินการเชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่  หรือเรียกว่าเป็นส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งยังเป็นส่วนขับเคลื่อนให้มีการขยายตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

แหล่งเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ SMEs มาตลอด  จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการ มักประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างต่อเนื่อง  ผู้ประกอบการราว 40% เท่านั้น ที่สามารถขอรับบริการและได้รับอนุมีติสินเชื่อจากสถานบันการเงินได้ ซึ่งปัญหานี้ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขยายกิจการ หรือมีเงินทุนที่เพียงพอต่อการพัฒนาสินค้าและบริการของตนเองได้ หรืออาจต้องปิดกิจการเนื่องจากมีเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้ออกพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจขึ้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มมากขึ้น  โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในการประกอบกิจการมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้  โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินและยังสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นไปผลิตเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้  เช่น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า สินค้าคงคลัง  และทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ เช่น เครื่องจักรอุปกรณ์และเครื่องใช้ในการประกอบธุรกิจ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เป็นต้น

ขณะนี้กรมฯ ได้จัดตั้ง “สำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการรองรับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังได้จัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ข้าราชการ บุคลากร เจ้าหน้าที่ และยุคคลทั่วไป เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ รวม 6 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม – กันยายน พ.ศ. 2558

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้สนใจที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจสามารถค้นหารายละเอียดได้ที่ www.dbd.go.th สอบถามสายด่วนที่ 1570
Facebook page:DBD สำนักทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ หรือ อีเมล์ stro@dbd.go.th

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

บริษัท นารา การบัญชี จำกัด
เลขที่ 4/1 ซอยลาดพร้าว 52 ถนนลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310

โทร 080 173 2000 ; 080 174 2000 หรือ 080 175 2000
โทร 080 286 2000 ; 080 287 2000
โทร 02 933 5511 ; 02 933 5512

แฟ็กซ์. 02 933 5890
อีเมล์: info@53ac.com , สำเนาถึง: 53ac.com@gmail.com
Line ID: nara53

 6,817 total views,  3 views today