ยกเว้นภาษีผู้พิการที่ไม่มีสัญชาติไทย
สังคมได้รับรู้มาโดยตลอด จึงจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและเข้าถึงบริการที่ให้ความช่วยเหลือคนพิการในสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ การใช้บริการสถานีรถไฟฟ้า การใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งผู้พิการเหล่านั้นเป็นบุคคลที่ยังคงต้องการที่จะใช้ชีวิตให้เหมือนกับคนธรรมดาทั่วไปถึงกระนั้นผู้พิการก็มีสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ เนื่องจากการใช้ชีวิตของพวกเขามีความยากลำบากกว่าคนธรรมดาทั่วไปจึงได้มีการคุ้มครองสิทธิผู้พิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ซึ่งได้กำหนดสิทธิในการดำเนินชีวิตของผู้พิการไว้ เช่น สิทธิในการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ สิทธิได้รับการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ สิทธิในการประกอบอาชีพและการมีงานทำสิทธิได้รับสวัสดิการสังคม สิ่งอำนวยความสะดวกการจัดบริการล่ามภาษามือ การสนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ การลดหย่อน ค่าโดยสารขนส่งสาธารณะสำหรับคนพิการ เป็นต้น
สำหรับคำจำกัดความของ “คนพิการ” หมายถึง บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้าน ต่าง ๆ และมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ ตามประเภทและหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกาศกำหนด
ในส่วนของกรมสรรพากรได้ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีสำหรับผู้พิการไว้แล้ว และมีการเพิ่มเติม สิทธิประโยชน์สำหรับผู้พิการที่เป็นคนต่างด้าวให้ได้รับสิทธิเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย
สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเงินได้ของผู้พิการที่กำหนดไว้แล้ว
ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย มีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท
สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเงินได้ของผู้พิการ (เพิ่มเติม)
ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการและเป็นคนต่างด้าว ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย โดยมีหนังสือรับรองความพิการจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี สำหรับเงินได้ที่ผู้พิการได้รับซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้เกิดความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้พิการ เพื่อให้สามารถที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
2,222 total views, 1 views today